จากการเข้าร่วมอบรมโครงการพัฒนาอาจารย์ เรื่อง “การสร้างรูปแบบข้อสอบมาตรฐาน ผลการเรียนรู้และการทวนสอบสัมฤทธิ์ผล” ที่จัดโดยสนง.พัฒนาคุณภาพการศึกษา ม.อุบลฯ ได้ประเด็นในการเขียนคำถามวัดพฤติกรรมระดับต่างๆ
1. คำถามประเภทความรู้ความจำ
1.1 คำถามด้านความรู้ในเนื้อเรื่อง ถามถึงเรื่องราวและความจริง ความสำคัญต่างๆของเนื้อหา
1.2 คำถามเกี่ยวกับศัพท์และนิยาม ถามความหมายของศัพท์ คำจำกัดความ และความหมายของสัญลักษณ์
1.3 คำถามเกี่ยวกับสูตร กฎ ความจริง ความสำคัญ เช่น การหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก ต้องใช้สูตรใด, อวัยวะใดดูดอาหารไปเลี้ยงร่างกาย, เมื่อหลับสนิทหัวใจทำงานอย่างไร
1.4 คำถามด้านวิธีดำเนินการ ถามเกี่ยวกับวิธีประพฤติปฏิบัติและวิธีดำเนินการในกิจการงาน
1.5 ถามเกี่ยวกับลำดับขั้นหรือแนวโน้ม เช่น การช่วยคนเป็นลมควรทำอะไรก่อน
1.6ถามเกี่ยวกับการจัดประเภท
1.7 ถามเกี่ยวกับเกณฑ์ เช่น การพักผ่อนที่ดีมีลักษณะอย่างไร
1.8ถามเกี่ยวกับวิธีการ เช่น ข้อใดเป็นการกำจัดขยะที่ผิดวิธี
1.9 ถามเกี่ยวกับทฤษฎีและโครงสร้าง
2. คำถามประเภทความเข้าใจ เป็นการถามความสามารถในการผสมแล้วขยายความรู้ความจำให้ไกลออกไปจากเดิมอย่างสมเหตุสมผล
2.1 คำถามด้านการแปลความ เช่น ที่ว่าเมืองไทยเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” นั้นหมายความว่าอย่างไร หรือแปลความจากสัญลักษณ์ เช่น กราฟ ดังกล่าวข้างต้น มีความหมายว่าอย่างไร
2.2 คำถามด้านการตีความ
1) ตีความหมายของเรื่อง เช่น ผลการทดลองนี้ อาจสรุปได้เช่นไร?
2) ตีความหมายของข้อเท็จจริง เช่น “วัฒนาต้องการทดลองเกี่ยวกับชีวิตของยุง เขาจับยุงมา10ตัว มาขังไว้ในกล่องมุ้งลวด 2 วัน ปรากฎว่ายุงตายไป5ตัว” คำถาม การที่ยุงตาย แสดงให้เห็นสภาพของอะไร? (อดน้ำ-อดอาหาร-ขาดอากาศ-กล่องเล็กคับแคบ-ไม่ทราบสาเหตุ)
2.3 คำถามด้านการขยายความ
1) ขยายความแบบจินตภาพ เช่น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ไหน (..ในป่า..)
2) ขยายความแบบพยากรณ์ เช่นเราคาดว่าตอนจบของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร (..พระเอกได้แต่งงาน…)
3) ขยายความสมมติ เช่น ถ้าใช้น้ำแข็งแทนน้ำธรรมดา ผลการทดลองจะเป็นเช่นไร (…พืชตาย…)
4) ขยายความแบบอนุมาน เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมในเมืองนานๆ จะเกิดโรคชนิดใดตามมา (โรคตา-โรคปอด-โรคท้องร่วง-โรคไข้จับสั่น)
3. คำถามประเภทการนำไปใช้ ความสามารถในการนำเอาความรู้และความเข้าใจในเรื่องราวใดๆไปแก้ปัญหาที่แปลกใหม่
1) ถามความสอดคล้องระหว่างหลักวิชากับการปฏิบัติ เช่น ชาวนาขายข้าวเปลือกใช้วิธีการวัดอย่างเดียวกับการขายอะไร (ขายไก่-ขายผ้า-ขายกาแฟ-ขายน้ำตาล)
2) ถามให้แก้ปัญหา เป็นขั้นนำความรู้ไปใช้ในสภาพจริงกันโดยตรง เช่น ถ้าขาดแคลนเนื้อสัตว์ ควรทดแทนด้วยอาหารชนิดใด? (ถั่ว-งา-เผือก-มัน-ข้าวโพด)
4.คำถามประเภทวิเคราะห์
4.1 วิเคราะห์ความสำคัญ เช่น ข้อความนี้ กล่าวถึงสิ่งใดที่สำคัญที่สุด , ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อเรื่องนี้ คืออะไร
4.2 วิเคราะห์ความสัมพันธ์ เช่น ข้อความนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับอะไรมากที่สุด ,เขาหวังอะไรจากการกระทำเช่นนั้น
4.3 วิเคราะห์หลักการ เช่น บ่อ าระ ทะเล มีสิ่งใดแตกต่างกัน (น้ำ-รส-ใส-คลื่น-ขนาด)
5.คำถามประเภทสังเคราะห์ วัดความสามารถในการรวบรวมสิ่งต่างๆตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป เพื่อให้กลายเป็นสิ่งสำเร็จรูปขึ้นใหม่ ที่มีลักษณะแปลกไปจากส่วนประกอบย่อยของเดิม
5.1 สังเคราะห์ข้อความ เช่น ให้แสดงความคิดเห็นอิสระของตนต่อเรื่องราวที่กำหนดให้ , เปรียบเทียบความดีงาม เด่นด้อยของเรื่องต่างๆ
5.2 สังเคราะห์แผนงาน การกำหนดแนวทางและขั้นตอนของการปฏิบัติงานใดๆ ล่วงหน้า เพื่อให้การดำเนินงานราบรื่น และบรรลุผลตรงตามเกณฑ์ และมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น ควรใช้วิธีใดตรวจสอบขั้นต้นว่า ดอกกุหลาบที่เราซื้อจากตลาดยังมีชีวิตอยู่?
5.3 สังเคราะห์ความสัมพันธ์ เอาความสำคัญและหลักการต่างๆมาผสมให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้เกิดเป็นสิ่งสำเร็จรูปใหม่ ที่มีความสัมพันธ์แปลกไปจากเดิม เช่น คนที่ไม่ลักขโมยเป็นคนดี แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น เขาจะต้องปฏิบัติอะไรอีก? (อาชีพสุจริต-ไม่โลภมาก-มีความซื่อสัตย์)
6.คำถามประเภทประเมินค่า ถามการตีราคาต่างๆ โดยสรุปอย่างมีหลักเกณฑ์ว่าสิ่งนั้นมีคุณค่าดี-เลว หรือ เหมาะควรอย่างไร
6.1 ประเมินค่าโดยเกณฑ์ภายใน ประเมินสิ่งใดๆ โดยใช้ข้อเท็จจริงต่างๆ เท่าที่ปรากฏอยู่ในเรื่องราวนั้นเองเป็นหลักในการพิจารณา
– ประเมินความสมบูรณ์ ถูกต้องของข้อมูล เช่น จากเหตุการณ์ข้างต้น มีความถูกต้อง เหมาะสม และเชื่อถือได้เพียงใด
6.2 ประเมินค่าโดยเกณฑ์ภายนอก การตีราคาโดยใช้เกณฑ์อื่นๆ ที่อยู่ภายนอกเรื่องราวนั้น แต่ทว่าสัมพันธ์กับเรื่องนั้น มาเป็นหลักในการวินิจฉัยตัดสิน
– ประเมินโดยสรุป เช่น การกระทำนี้ มีประโยชน์ต่อสังคมในด้านใด?
– ประเมินโดยเปรียเทียบ เช่น รูปภาพแรกมีลักษณะใดเด่นชัดกว่ารูปภาพหลัง? (สี-เส้น-แบบ-ความหมาย)
– ประเมินกับมาตรฐาน เช่น การกระทำนี้สอดคล้องกับหลักการใด? (สันโดษ-ประชาธิปไตย)
– ประเมินความเด่นด้อย เช่น ความเห็นที่ว่า …มีลักษณะเด่นในทางใด และด้อยในทางใด