จากการอบรมการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creativity-based learning : CBL) ที่โรงแรม ม.อุบลฯ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.57 ที่ผ่านมา ทำให้ได้ความรู้และเกิดแรงบัลดาลใจมากมายที่จะสอนหนังสือ(แต่ที่ถูกต้องคือ ผู้อำนวยการเรียนรู้ หรือ facilitators) ให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาผมก็ได้พยายามจัดกระบวนการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้ฝึกคิดอย่างสร้างสรรค์ ฝึกแก้ปัญหา และฝึกปฏิบัติจริงอยู่พอสมควร โดยเฉพาะวิชา 2200402 สหวิทยาการการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรเพื่อเศรษฐกิจพอพียง ที่เน้นให้นักศึกษาฝึกคิดและตัดสินใจด้วยตนเองเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เกษตรที่ตนสนใจที่จะทำนำมาการแปรรูป โดยอาจารย์เพียงกำหนดโจทย์กว้างๆ เช่น โจทย์เกี่ยวกับธัญพืช นักศึกษาก็จะต้องไปเสาะแสวงหาความรู้เรื่องธัญพืชชนิดต่างๆที่สนใจแล้วนำมานำเสนอหน้าชั้นเรียนให้เพื่อนได้รับชมรับฟัง โดยอาจารย์คอยให้ข้อเสนอแนะ อธิบายเพิ่มเติม และช่วยแก้ไขข้อมูลกรณีข้อมูลที่นำมานำเสนอไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด และตั้งคำถามที่ท้าทายต่อการหาคำตอบต่อไปด้วย จากนั้นจึงให้นักศึกษาตัดสินใจเลือกธัญพืชชนิดใดชนิดหนึ่งที่ต้องการนำมาแปรรูป โดยจะต้องกลับไปเรียนรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูตัวอย่างการแปรรูปจากอินเตอร์เน็ต การค้นคว้าจากหนังสือหรือตำราที่เกี่ยวข้องในห้องสมุด ตลอดจนต้องฝึกฝนและลองผิดลองถูกในการแปรรูปด้วยตนเองที่บ้านจนชำนาญและมั่นใจในทักษะของตนเอง แล้วนำความรู้และทักษะเหล่านั้นมาถ่ายทอดความรู้สู่เพื่อนในชั้นเรียนได้อย่างมั่นใจ โดยเพื่อนร่วมชั้นนอกจากจะมีบทบาทในการเรียนรู้จากการปฏิบัติของเพื่อนผู้สาธิตการปฏิบัติแล้ว ยังต้องมีบทบาทในการให้คะแนนผู้ปฏิบัติในด้านต่างๆด้วย เช่น ด้านรูปลักษณ์ รสชาติ ความสะอาดในกระบวนการผลิต เป็นต้น นอกจากนั้นช่วงปลายภาคการศึกษานักศึกษายังต้องทำงานเป็นทีมในการสร้างผลิตภัณฑ์และทดลองขายให้ได้ผลกำไรตามที่อาจารย์กำหนดเป็นขั้นพื้นฐาน
อย่างไรก็ตามถึงแม้ได้พยายามมาแล้วระดับหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ผมก็คิดว่าสิ่งที่ท้าทายสำหรับผมเองก็คือ การนำความรู้เรื่องการสอนอย่างสร้างสรรค์ไปใช้ให้มากขึ้นในวิชาที่สอนให้นักศึกษากลุ่มใหญ่ที่ยังเน้นการบรรยายเป็นหลักอยู่ เช่นในวิชา 1700470 จริยธรรมทางธุรกิจ ซึ่งถึงแม้ผมจะพยายามได้เสาะหากรณีศึกษาที่น่าสนใจไปให้นักศึกษาได้ฝึกวิเคราะห์ ตลอดจนการให้ทำรายงานและค้นคว้าข้อมูลเพื่อตอบปัญหาหรือคำถามท้ายบท เป็นต้น แต่ผมคิดว่ายังไม่ใช่รูปแบบให้นักศึกษาเกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่เท่าที่ควร ดังนั้นผมจะต้องเลือกใช้กระบวนการที่วิทยากรในการฝึกอบรมครั้งนี้ คือ ดร.วิริยะ ฤาชัยพานิชย์ ที่ได้ให้ไว้เกี่ยวกับรูปแบบการสอนแบบสร้างสรรค์ ได้แก่ 1 การสร้างแรงบันดาลใจ โดยสื่อมัลติมีเดีย และผู้อำนวยการเรียนรู้ 2. การค้นคว้า เรียนรู้ และเล่นเกมส์กระตุ้นความอยากรู้ 3. การสอนและแนะนำแบบตัวต่อตัว 4. การฝึกฝนการตั้งปัญหาและแก้ปัญหารายบุคคล 5. การฝึกการทำงานเป็นทีมด้วยโครงงาน 6. การฝึกนำเสนอและวิจารณ์แบบสร้างสรรค์ 7. การแข่งขันหลากหลายรูปแบบ 8. การประเมินสัมฤทธิ์ผลในการเรียนด้วยการประเมินที่สร้างสรรค์ ทั้งนี้โครงสร้างหลักของรูปแบบการเรียนการสอนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นฐานพัฒนามาจากโครงสร้างการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน(Problem-based learning) และแนวทางการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ แบบความคิดแนวขนานของ เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน นั่นเอง (สุขวิทย์ โสภาพล 20 มี.ค. 57)
รายงานผลการฝึกอบรมสอนสร้างสรรค์ มี.ค.57