เมื่อวันที่ 13-14 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมสัมมนาเรื่อง “Reflective Coaching Workshop” กับ คุณนภัส มรรคดวงแก้ว หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “โค้ชนุ่น” “โค้ชนุ่น” เป็นนักวิชาการเชิงธุรกิจที่มีความใฝ่ฝันสูงมาก มีความเชื่อมั่น และมุ่งมั่นมากในตนเอง จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเป็นโค้ชในขณะที่อายุเพิ่งเริ่มวัยทำงาน นับเป็นความสำเร็จในชีวิตอีกก้าวหนึ่งของคนทำงานซึ่งทำให้ผมรู้ และเข้าใจได้ว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะทำในสิ่งเรารัก และชอบที่จะทำให้ฝันนั้นเป็นจริง เช่นเดียวกันกับความท้าทายในการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเปลี่ยนกระบวนทัศน์ สามารถหาและสร้างความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งนับว่าเป็นความคุ้มค่าอย่างมากกับการได้ไปนั่งเรียนรู้ที่โรงแรมเซนจูรีปาร์ค กรุงเทพฯ อันนจะนำมาใช้กับนักเรียนในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาของศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นอย่างดี
“โค้ชนุ่น” เล่าว่า ทุกคนสามารถเป็นโค้ชได้ แต่การเป็นโค้ชที่ดีนั้นจะต้องมีการฝึกฝน และทบทวนตนเองตลอดเวลา และที่สำคัญจะต้อง “ถาม” อย่างไรให้เขาเกิดปัญญาได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นคำพูดที่ผมประทับใจมาก เพราะเป็นอะไรที่เราเคยทำมานักต่อนักแล้วแต่เราไม่เคยได้ตระหนักในสิ่งนั้นจึงทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นโค้ช หรือการให้คำปรึกษา นอกจากนั้นยังทำให้ผมมีความเข้าใจมากขึ้นระหว่างคำที่อาจจะมีความหมายที่ใกล้เคียงกันคือ Teacher/Trainer คือ ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะในเรื่องนั้น ซึ่งจะทำหน้าที่ในการสอนหรืออบรม Facilitator คือ ผู้อำนวยความสะดวกหรืออำนวยการเรียนรู้ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการลดช่องว่างระหว่างเรากับผู้เรียนให้สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีใครเหนือกว่าใคร Mentor/Supervisor คือ พี่เลี้ยงและผู้ตรวจ ทั้งสองส่วนจะมีระดับที่แตกต่างกันระหว่าง โดยที่พี่เลี้ยงและผู้ตรวจจะมีระดับที่เหนือกว่าผู้เรียน ซึ่งอาจจะมีผลต่อกระบวนการเรียนรู้ในการที่จะไปสู่เป้าหมาย สำหรับคำว่า Coach คือ การให้คำปรึกษาที่ผู้ให้คำปรึกษาอยู่ด้านล่างและมีความพยายามที่จะผลักดันให้ผู้มาปรึกษาขึ้นไปอยู่ข้างบน จากความหมายของคำดังกล่าวทำให้ผมมีความเข้าใจในหลักการมากขึ้นในการที่จะให้คำปรึกษาแบบย้อนกลับสำหรับนักเรียนในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ซึ่งในเบื้องต้นผมคิดว่าจะต้องพยายามสร้างพื้นที่ความปลอดภัยระหว่างพี่เลี้ยง ครู และนักเรียน จากนั้นจะพยายามป้อนคำถามให้กับนักเรียนได้คิด ใคร่ครวญ แล้วค่อยๆ จัดลำดับคำตอบ จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่เรามีเป้าหมายร่วมกัน
“การเป็นโค้ชที่ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องเก่งในเรื่องนั้น” เป็นอีกคำพูดหนึ่งที่ผมมีความประทับใจมาก ซึ่งในอดีตผมมีเข้าใจมาตลอดว่า การเป็นโค้ชนั้นจะต้องเป็นคนที่เก่งและประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆ แล้วค่อยมาให้คำปรึกษากับคนอื่น แต่สำหรับโค้ชนุ่นแล้วบอกว่าไม่จำเป็นพร้อมกับได้ยกตัวอย่างนักกีฬากอล์ฟมืออาชีพที่เขาประสบความสำเร็จกับการเป็นมือสวิงอันดับต้นๆ ของโลก ที่มีโค้ชไม่ใช่นักกีฬากอล์ฟเลย แถมตีกอล์ฟไม่เป็นอีกต่างหาก แต่สามารถให้คำปรึกษาและให้ผู้รับคำปรึกษาประสบความสำเร็จได้ โค้ชนุ่นได้เล่าว่า เร่งความเก่งในเรื่องของผู้มาขอคำปรึกษาไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะการให้คำปรึกษาไม่ได้เป็นการช่วยให้เขาเก่งยิ่งขึ้น หากแต่สำคัญอยู่ที่เป้าหมายของการให้คำปรึกษา เพราะผู้ให้คำปรึกษาจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และที่สำคัญ การที่จะบรรลุเป้าหมายหรือไม่นั้นจะต้องดูบริบทโดยรอบด้วย ซึ่งประกอบด้วย 1) ความไว้เนื้อเชื่อใจ ประเด็นนี้สำคัญมาก หากทั้งสองฝ่ายเปิดใจที่จะรับซึ่งกันและกันก็จะนำไปสู่ความสำเร็จ 2) ความตั้งใจ นับเป็นความเปี่ยมล้นของทั้งสองฝ่ายที่มีให้ต่อกัน 3) ความสัมพันธ์ เป็นการสร้างบรรยากาศในการให้คำปรึกษาที่ที่ต้องเข้าใจกันเป็นอย่างดีทั้งสองฝ่าย 4) คำพูด นับเป็นประเด็นที่จะสามารถสร้างความแตกแยกได้ตลอดเวลา ดังนั้นต้องอดทน อดกลั้น เพื่อจะนำไปสู่เป้าหมาย และ5) โอกาส นับเป็นปัจจัยแวดล้อมอีกประการหนึ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ และต้องระวัง “อย่าไปโค้ชในช่วงเวลาเขาไม่ชอบเรา” ซึ่งจากประเด็นดังกล่าวทำให้ผมได้เรียนรู้ในการที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานสำหรับการให้คำปรึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัย และนักเรียนที่อยู่ในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
จากกระบวนการเรียนรู้การให้คำปรึกษาแบบสะท้อนกลับ (Reflective Coaching) ดังกล่าว ทำให้ผมรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ผมจะเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อการเตรียมพร้อมที่จะป็นโค้ทที่ดีในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาตามคำแนะนำของ เพราะผู้รู้และโค้ชนุ่น และจากคำกล่าวที่ว่า “เปลี่ยนความคิดชีวิตเปลี่ยน” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเกิดความตระหนักรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ที่ผมเองจะต้องเปลี่ยนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นโค้ชที่ดี มีคุณภาพเพื่อรับใช้สังคมต่อไป แล้วท่านท่านล่ะเร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยังครับ
ขอแสดงความขอบคุณ
อุทัย อันพิมพ์