ไหมเส้นเดียวไม่เป็นด้าย ต้นไม้ต้นเดียวไม่เป็นป่า การเรียนการสอนจะประสบความสำเร็จได้จะอาศัยอาจารย์ลำพังแต่ผู้เดียวคงไม่ได้ อาจารย์จึงควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน แต่ด้วยความที่สังคมไทยถูกครอบงำโดย Power distance culture คือมีระบบอาวุโส จึงทำให้การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงออกจึงมีอุปสรรค เช่น ตัวอย่างจากวีดีทัศน์ที่วิทยากรนำเสนอ แสดงตัวอย่างของครูที่ไม่ปักใจไม่เชื่อว่านักเรียนในห้องคนหนึ่งจะวาดรูปช้างได้สวยงาม แม้นักเรียนคนดังกล่าวจะอธิบายอย่างไร ครูท่านนั้นกลับคงยึดมั่นในความคิดของตนเป็นสรณะ พร้อมกับยัดเยียดความคิดของตนให้กับนักเรียนในชั้นเรียนคนอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ป่วยการที่จะถามหาความคิดเห็นที่แตกต่างจากนักเรียน อีกประเด็นหนึ่งสังคมไทยยังถูกครอบงำโดย Collectivism culture คือการจะทำอะไร ต้องใส่ใจสังคมคนรอบข้าง การแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาก็เช่นกัน แม้รู้คำตอบอยู่แล้ว หรือแม้คิดคำตอบได้แล้ว กลับไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียน เพราะกลัวเพื่อนรอบข้างจะหัวเราะ เยาะเย้ย หรือถากถาง นักศึกษาจึงหลีกเลี่ยงความอับอายโดยการนิ่งเงียบ ทำให้แม้อาจารย์จะใจกว้างเพียงใด ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างเพียงใด ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาส่วนหนึ่งก็เกิดจากนักศึกษาด้วย
จากที่ผู้เขียนได้รับการอบรม พบว่าองค์ความรู้จากวิทยากรมีความลุ่มลึกและแหลมคมยิ่ง ซึ่งพอจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ วิทยากรกล่าวว่าการสอนแบบให้อาจารย์เป็นผู้ให้ จะเป็นการปลูกฝังให้นักศึกษาเป็นผู้รับ ขาดการคิดค้นเพื่อหาคำตอบ สุดท้ายก็ได้เพียงการท่องจำเพื่อไปสอบ หาได้มีเจตคติที่ดีต่อเนื้อหาไม่ อาจารย์จึงควรคิดหากิจกรรม หรือแนวคำถาม เพื่อให้นักศึกษามีส่วนร่วมในกิจกรรม จนท้ายที่สุดบทสรุปของกิจกรรมจะชักพาให้นักศึกษาได้ค้นพบคำตอบของเรื่องนี้เอง แม้เป็นการสอนที่หนักหนาเอาการเพราะอาจารย์ต้องเตรียมการเยอะ แต่นักศึกษาจะจดจำสิ่งนั้นไปตลอด เพราะเป็นองค์ความรู้ที่นักศึกษาค้นพบเอง
ดังนั้น อาจารย์มีหน้าที่สำคัญในการปรับเทคนิคและกระบวนการในการสอน แทนที่จะอธิบาย เพราะการอธิบายแม้ประหยัดเวลาแต่ประสิทธิผลกลับได้น้อย เพราะนักศึกษามีความรู้จริง แต่กลับขาดทักษะ และขาดความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญหากนักศึกษาตอบคำถามในห้อง รางวัลที่ดีที่สุดที่นักศึกษาต้องการ คือรอยยิ้มและการพยักหน้าจากอาจารย์ผู้สอน เพราะนั่นหมายถึงนักศึกษาได้รับการยอมรับจากอาจารย์ สุดท้ายนี้ผู้เขียนใคร่ของทิ้งท้ายคำกล่าวจากครูอาวุโสแห่งอุดรพิทยานุกูลไว้ว่า ครูผู้ชนะคือ ไม่ใช่การพยายามเอาชนะเด็ก แต่ควรสอนให้เด็กรู้จักเคารพและยอมรับในตนเอง
วิญญู วีระนันทาเวทย์