ทีมวิทยากรจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้ชี้แนะถึงทักษะและเทคนิคการทำงานกับชุมชนในงานวิจัยเชิงพื้นที่ เมื่อวันที่ 10 – 11 มีนาคม 2558 ณ ห้องประชุมพิบูลมังสาหาร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่า การทำงานวิจัยกับชุมชนนั้น นักวิจัยควรมีเทคนิคในการทำงานกับชุมชนในงานวิจัยเชิงพื้นที่ดังนี้
- ศึกษาชุมชน เป็นการศึกษาถึงบริบทต่าง ๆ ของชุมชนเช่น ความคาดหวัง ความเชื่อและศรัทธา ระบบคุณค่า ประเพณี วัฒนธรรม ระบบทรัพยากรชุมชน ระบบเศรษฐกิจชุมชน ระบบการบริหารจัดการชุมชน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมและป่าไม้
- เตรียมการ เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากข้อ 1 มาวิเคราะห์อย่างคร่าว ๆ เพื่อใช้ในการเตรียมตัวปฏิบัติการเปิดเวทีชุมชนซี่งในการเตรียมการนี้นักวิจัยต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง เช่น จะไปคุยกับใครในชุมชน ใครที่ควรจะเป็นผู้ที่พาเราไปในชุมชนในกรณีที่เรายังใหม่ต่อชุมชนนั้น ๆ มาก
- ปฎิบัติการเปิดเวทีชุมชน เป็นการกำหนดเป้าหมายร่วมกับชุมชน โดยในการเปิดเวทีชุมชนนี้ นักวิจัยต้องแนะนำตัวและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการวิจัย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัยต้องเข้าใจโจทย์ปัญหาของชุมชนที่ชัดเจน ตลอดจนต้องเข้าใจว่าใครคือกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับโจทย์ปัญหาวิจัยของเราบ้าง รวมถึงต้องเข้าใจบทบาทการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยและชุมชน เพื่อให้ได้ข้อมูลจากชุมชนมากที่สุดในขณะเดียวกันชุมชนก็มองเห็นประโยชน์ที่จะได้จากงานวิจัยเช่นกัน
- สรุปผลการเรียนรู้ เป็นการทบทวนสิ่งที่ได้จากการสอบถามพูดคุยกับชุมชนและสรุปให้ชุมชนฟังอีกครั้งเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับเป้าหมายร่วมระหว่างนักวิจัยและชุมชน
จึงสรุปได้ว่า ทักษะที่จำเป็นของนักวิจัยในการทำวิจัยเชิงพื้นที่คือ
- ทักษะด้านการทำวิจัย
- ทักษะด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน และ
- ทักษะด้านการจับประเด็นที่นักวิจัยเชี่ยวชาญและชาวบ้านเชี่ยวชาญ