จากการบรรยายของ รศ.ดร.โยธิน แสวงดี ในเรื่อง “การเขียนบทความวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ” ทำให้ผู้เขียนนิ่งฟัง คิดตาม หรือแม้แต่มีความรู้สึกว่า อ๋อ… อืม… อือ… ตลอดช่วงการฟังบรรยาย จากเดิมการตีพิมพ์บทความวิชาการถือว่าเป็นยาขมสำหรับตัวผู้เขียน แต่ในวันนั้นกลับสนุกและได้รู้สึกถึงความหวานขึ้นมาบ้าง อาจารย์อธิบายว่าการจะได้ตีพิมพ์ผู้เขียนต้องศึกษาวารสารที่ต้องการจะตีพิมพ์ให้เป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถเขียนให้ตรงกับเป้าหมายของวารสารที่มีแตกต่างกันไป 3 เป้าหมายคือ
1. ข้อค้นพบต้องสามารถชี้นำนโยบายได้
2. ต้องเป็นงานวิจัยเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
3. ต้องเป็นการวิจัยและพัฒนา
นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคอีกหลายประการที่สามารถทำให้ได้ตอบรับการตีพิมพ์ ตามแนวคิด “เข้าใจวารสาร เข้าใจตัวเอง และเข้าใจศักยภาพ” เช่น
– ต้องดูว่างานวิจัยของเรานั้นสอดคล้องกับบริบท วิสัยทัศน์ของวารสารหรือไม่ เลือกให้เหมาะสม
– ดึงดูดความสนใจของงานโดยอ้างอิงงานใหม่หรืองานของผู้ที่มีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือ และควรอ้างอิงงานของวารสารที่เราต้องการตีพิมพ์ด้วย
– ชื่อเรื่องต้องโดดเด่น สามารถสะท้อนประเด็นหลัก ข้อค้นพบของงานได้
– เน้นการเขียนตามแนวคิดของตัวเอง แล้วหาทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับมาสนับสนุน
– แบ่งสัดส่วนของเนื้อหาให้ดี โดยต้องมีการวางแผนงานไว้ล่วงหน้า