เนื้อหาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง ประสบการณ์และแนวทางการขอทุนเพื่อทำวิจัยในระดับนานาชาติ
ถอดองค์ความรู้ที่ได้จากหัวข้อ “ประสบการณ์และแนวทางการขอทุนเพื่อทำวิจัยในระดับนานาชาติ” โดยกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ห้อง 205 คณะบริหารศาสตร์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากอาจารย์ที่เคยได้รับทุนเพื่อไปทำวิจัย และศึกษาในระดับนานาชาติ ได้แก่ ดร.เพ็ญภัตร พื้นผา, ดร.นรา หัตถสิน, ดร.กฤตยา อุธโท, ดร.ธรรมวิมล สุขเสริม และผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 25 คน โดยมี คุณบงกช คูณผล เป็นคุณลิขิต
แนวปฏิบัติที่ดี การขอทุนเพื่อทำวิจัยในระดับนานาชาติ
- ทำการสืบค้นแหล่งที่สนับสนุนทุน
ตัวอย่างเช่น http://www.britishcouncil.or.th/ , ทุนของรัฐบาลอังกฤษ, ทุน Erasmus Mandus, http://www.educationuk.org/, ทุนของFord Foundation International Fellowships Program (IFP) , ทุนของ NFP (Netherlands Fellowship Programmes) - ทำการศึกษาความต้องการของแหล่งทุน / วัตถุประสงค์ของการให้ทุน
เทคนิค : ต้องตอบโจทย์ของผู้ให้ทุนวิจัยให้ชัดเจน - ทำการเขียนข้อเสนอโครงการ (Research Proposal) และนำเสนอแหล่งทุน
เทคนิค : เขียนเป็นภาษาไทยก่อน จากนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษแปลให้ - ในการเขียนหัวข้อวิจัยใช้การแนวปฏิบัติดังนี้ (ปรับปรุงจากจรรยาวิชาชีพวิจัย ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)
4.1 ไตร่ตรองหาหัวข้อวิจัยด้วยความรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างองค์ความรู้ ความก้าวหน้าทางวิชาการ การแก้ปัญหา และประโยชน์สุขของสังคมและประเทศชาติ
4.2 มีความเป็นกลางทางวิชาการ และไม่ดำเนินการวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์ในการโจมตี หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย
4.3 ศึกษาระเบียบ กฎเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยของหน่วยงานต้นสังกัด และที่เกี่ยวกับการให้ทุนวิจัยของแหล่งทุนอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนนำเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนสนับสนุน เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
4.4 เขียนโครงการวิจัยในสาขาที่ตนถนัด มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และศักยภาพเพียงพอที่จะทำวิจัยให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ และได้มาตรฐานทั้งทางวิชาการและการวิจัย
4.5 ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะทำวิจัยอย่างพอเพียง ก่อนลงมือเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย
4.6 ให้เกียรติและอ้างถึงนักวิชาการเจ้าของข้อมูล หรือแหล่งที่มาของข้อมูล แนวคิด ผลงาน และถ้อยคำที่นำมาใช้ในการเขียนโครงการวิจัย ต้องไม่แอบอ้าง หรือสร้างข้อมูลเท็จ หรือปลอมแปลงข้อมูล หรือนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน หรือกระทำการใดๆ ที่ทำให้แหล่งทุนเกิดความเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง
4.7 ออกแบบและวางแผนการวิจัยหรือทดลองอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และระเบียบวิธีการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับของศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่วิจัย
4.8 ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมการวิจัยในคน โดยต้องเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน ให้คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน (หรือในชื่อเรียกอย่างอื่น) เพื่อรับรองหรือให้ความเห็นชอบก่อนยื่นเสนอต่อแหล่งทุนวิจัย
4.9 ขอรับคำยินยอมจากผู้รับการวิจัย หรือผู้แทนโดยชอบธรรมที่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของผู้รับการวิจัยได้ เช่น บิดามารดา ผู้ปกครอง ญาติ หน่วยงานที่ดูแล เป็นต้น ก่อนเริ่มดำเนินงานวิจัย ทั้งนี้นักวิจัยต้องเปิดโอกาสให้ผู้รับการวิจัยมีอิสระในการตัดสินใจเข้ารับการวิจัย หรือถอนตัวจากการวิจัยได้ตามต้องการ
4.10 ตระหนักถึงผลการวิจัยที่แม่นยำ โดยใช้สัตว์ทดลองจำนวนน้อยที่สุด ทั้งนี้ต้องเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ต่อคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในสัตว์ (หรือในชื่อเรียกอย่างอื่น) เพื่อรับรองหรือให้ความเห็นชอบ ก่อนยื่นเสนอต่อแหล่งทุนวิจัย
4.11 ขออนุญาตเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัย ให้ได้รับคำยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าหรือทดลอง
4.12 ระบุสถานที่ที่จะดำเนินการวิจัยอย่างชัดเจนโดยเฉพาะงานวิจัยที่ต้องใช้คนหรือสัตว์เป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย
4.13 ระบุช่วงเวลาในการทำวิจัยในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการวิจัย และระยะเวลาทั้งหมดที่จะใช้ในการทำวิจัยอย่างชัดเจน
4.14 มีความโปร่งใสในการเสนอโครงการ เพื่อขอรับทุนวิจัยไม่ปิดบังหรืออำพรางวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการวิจัย และต้องเสนอข้อมูลและแนวคิดอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาในข้อเสนอโครงการวิจัย
4.15 ศึกษาและทำความเข้าใจข้อตกลงหรือสัญญาโครงการวิจัยอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน ว่าไม่ขัดกับมาตรฐานทางวิชาการและจรรยาวิชาชีพวิจัย รวมทั้งอยู่ในวิสัยและความสามารถที่นักวิจัยจะกระทำให้สำเร็จได้โดยมีอิสระทางความคิด ก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลงหรือสัญญากับแหล่งทุนวิจัย
4.16 แจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดทราบก่อนที่จะลงนามในข้อตกลงหรือสัญญา ให้เป็นที่เข้าใจตรงกันระหว่างนักวิจัยหน่วยงานต้นสังกัด และผู้ให้ทุนเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อปฏิบัติต่างๆ ในข้อตกลง หรือสัญญา เพื่อให้แต่ละฝ่ายยึดถือปฏิบัติตาม และปกป้องสิทธิประโยชน์ของตน รวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานว่าด้วยการวิจัย