ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาไทยมีหลักสูตรรวมกันกว่า 10,000 หลักสูตร เนื่องจากมีสถาบันอุดมศึกษาไทยที่หลากหลายและมีจำนวนรวมกว่า 170 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยเอกชน วิทยาลัย และสถาบันฯ จากการดำเนินการของระบบการประกันคุณภาพทางการศึกษาและระบบมาตรฐานการอุดมศึกษา ทำให้พบว่าหลักสูตรจำนวนไม่น้อยยังไม่มีคุณภาพเพียงพอและต้องมีการปิดหลักสูตรลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคแห่งการแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วของกระแสโลก ซึ่งรัฐบาลไทยได้สร้างโมเดลการพัฒนาเศราฐกิจเพื่อให้ทันต่อยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “ไทยแลนด์ 4.0” นั่นคือพยายามสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือมีลักษณะของ Valued- base Economy แทนเศรษฐกิจแบบเดิมที่เน้นการผลิตในอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เหมือนดังเช่นหลายทศวรรษที่ผ่านมาของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วของกระแสโลก และนโยบายเกี่ยวกับโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ“ไทยแลนด์ 4.0” สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องมีความตระหนักและพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆในการดำเนินของสถาบันอุดมศึกษาอีกมากเพื่อให้ทันต่อยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับสังคมว่าสถาบันอุดมศึกษามีมาตรฐานและศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพทั้งด้านคุณธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การสื่อสารและการใช้สารสนเทศที่เหมาะสม ตลอดจนมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงาน สภาพเศรษฐกิจและสังคม และทิศทางการพัฒนาของประเทศในยุคปัจจุบัน โดย คุณนุชนภา รื่นอบเชย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและคุณภาพอุดมศึกษาได้เสนอว่า ประเด็นการพัฒนาที่สำคัญที่สถาบันอุดมศึกษาต้องเร่งพัฒนา ได้แก่ 1) ปรับยุทธศาสตร์ (Reprofile) 2) การจัดการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์( Outcome Based Education) 3) การวางแผนสู่อนาคตEducation 2030
1.การปรับยุทธศาสตร์ (Reprofile)
การปรับยุทธศาสตร์ คือ การมีคณะ หลักสูตร ของสถาบันอุดมศึกษาให้เหมาะสมกับปริมาณและความต้องการศึกษาต่อของกลุ่มเป้าหมาย โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องมีการทบทวน ปรับปรุง ปรับลด หรือเปิดหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงประชากร (คนเกิดน้อยลง ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น) ตลอดจนปรับหลักสูตรให้มีความสอดคล้องหรือเอื้อต่อการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐ และความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ต้องพยายามแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งนี้การบริหารจัดการต่างๆต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งและคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการบริหาร
สถาบันอุดมศึกษาต้องสามารถสร้างอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตนเองตามศักยภาพและความเชี่ยวชาญซึ่งแตกต่างกันไป เช่น เชี่ยวชาญหรือโดดเด่นด้านการผลิตครู การผลิตแพทย์และพยาบาล การผลิตบุคคลด้านเทคโนโลยีและการจัดการ หรือการผลิตบุคลากรด้านการเกษตร เป็นต้น อันจะนำไปสู่ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและการฝึกอบรมต่างๆให้ผู้เรียนมีคุณภาพและสมรรถนะสูงอย่างแท้จริง นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษาต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากภาคส่วนต่างๆและตลอดจนให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม
2.การจัดการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์(Outcome Based Education: OBE)
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวนักศึกษาหลังจากได้ใช้เวลาเรียนในสถาบันอุดมศึกษา 4- 6ปี คือสิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพและคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตร หากหลักสูตรผลิตบัณฑิตออกมาโดยไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับคุณลักษณะหรือสมรรถนะ จะนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นของผู้ใช้บัณฑิตหรือตลาดแรงงาน ผลดังกล่าวจะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นของผู้สมัครเข้ามาเรียน ทำให้หลักสูตรไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ในที่สุด ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผลลัพธ์ (Outcome Based Education: OBE) จึงต้องพยายามสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับความรู้ ทักษะ และผลสัมฤทธิ์ ที่ผู้เรียนจะได้รับหลังเข้ารับการศึกษาที่เห็นเป็นรูปธรรม วัดได้หรือเกิดเชื่อมั่นว่าความรู้ ทักษะนั้นเกิดขึ้นในตัวผู้เรียนจริงๆ ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม เช่น การจัดการเรียนสอนที่เน้นกิจกรรม (Activity- based Learning) หรือการจัดการรู้แบบให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student- Centered Learning) เป็นต้น โดยการจัดการเรียนการสอนแบบ OBE ต้องจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนคือ มีการกำหนดมาตรฐานผลลัพธ์การเรียนรู้ โดยอาจใช้เทคนิคการออกแบบย้อนกลับ (Backward) จากผลลัพธ์ที่ต้องการสู่การออกแบบการเรียนการสอน ทั้งนี้การกำหนดมาตรฐานผลลัพธ์ต้องมีลักษณะของการคาดหวังผลลัพธ์ระดับสูงจากการจัดเรียนการสอนนั้น
3. การวางแผนการจัดการศึกษาโดยมองสู่อนาคต (Education 2030)
แนวคิดของการจัดการศึกษาโดยมองสู่อนาคต คือ การสร้างความเชื่อมั่นว่าการจัดการศึกษานั้นจะมีคุณภาพและมาตรฐานทัดเทียมกัน และส่งเสริมให้ทุกคนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งการจัดการศึกษาที่นำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ต้องใช้หลัก 3 ประการคือ คือ กรอบคุณวุฒิต้องแสดงให้เห็นผลลัพธ์การเรียนรู้และทักษะอย่างชัดเจน การประกันคุณภาพทางการศึกษาที่เพิ่มความมั่นใจในการยอมรับ และการรับรองคุณวุฒิที่โปร่งใส โดยเฉพาะในด้านการประกันคุณภาพฯ จะต้องมีการขึ้นทะเบียน และ/หรือการรับรองวิทยฐานะของสถาบันฯ การมีระบบประเมินตนเองและการประเมินจากภายนอกของสถาบันฯ การรับรองคุณวุฒิที่มีความหลากหลาย ส่วนด้านกรอบคุณวุฒิจะต้องสนับสนุนให้มีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิ การกำหนดระดับคุณวุฒิและผลลัพธ์การเรียนรู้ การขึ้นทะเบียนคุณวุฒิและ/หรือการมีองค์กรกำกับดูแลโดยเฉพาะ เป็นต้น
สุขวิทย์ โสภาพล
19-11-59