browser icon
You are using an insecure version of your web browser. Please update your browser!
Using an outdated browser makes your computer unsafe. For a safer, faster, more enjoyable user experience, please update your browser today or try a newer browser.

ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)

Posted by on 1 มีนาคม, 2019

สิ่งที่มนุษย์มีเหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่นบนโลกอย่างมาก คือ ปัญญา เพราะมนุษย์สามารถคิดและจินตนาการเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่มีความสลับซับซ้อนได้มาก สามารถใช้ความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ จากทรัพยากรที่มีอยู่มากมายบนโลกนี้ ให้กลายมาเป็นสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยสะดวกเพื่อมนุษย์มากมาย หรือแม้กระทั่งสร้างสรรค์สิ่งต่างๆที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่มั่นคง สิ่งจรรโลงจิตใจ สิ่งให้ความบันเทิงให้แก่มวลมนุษย์ของเราซึ่งไม่อาจความสามารถนี้ได้จากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  และความสร้างสรรค์เหล่านี้ก็มีไม่เท่ากันในเหล่ามวลมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆขึ้นมาจึงมีคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้น มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ในวงกว้างหรือนำไปสู่ผลประโยชน์พาณิชย์ทำให้สามารถสร้างรายได้และผลกำไรแก่ผู้สร้างสรรค์สิ่งนั้นขึ้นมา ดังนั้นผลงานอันเกิดจากสติปัญญาที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมาจึงมีคุณค่าและเปรียบเสมือนเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ เรียกว่า ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property)

ทรัพย์สินทางปัญญา จึงหมายถึง ผลงานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่นอกเหนือจากสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินทางปัญญามีหลายประเภท ได้แก่ สิทธิบัตร ลิขสิทธ์ เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า งานออกแบบวงจรรวม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การคุ้มครองพันธุ์พืช และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้จะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ คือ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เช่น พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 พรบ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นต้น ซึ่งของเงื่อนไขสำคัญของการแจ้ง หรือจดทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ คือ ความใหม่ กล่าวคือ การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วในราชอาณาจักร  โดยงานที่ปรากฏอยู่แล้ว เช่น การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้ว  การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญก่อนวันขอรับสิทธิบัตร การประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรแล้ว เป็นต้น ดังนั้นงานใหม่ที่ประดิษฐ์ใหม่ จะต้องการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น เช่น ผลที่ไม่คาดหวัง การรายงานก่อนหน้านี้ที่ให้ผลตรงข้าม มีขั้นตอนการทดลอง ศึกษา วิจัยหลายขั้นตอน/กระบวนการ เป็นต้น    ตลอดจนการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ได้แก่ การประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม รวมทั้งหัตถกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรม

อย่างไรก็ตามผู้ที่จะประสงค์จดหรือแจ้งเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ควรทราบว่า การประดิษฐ์บางชนิดไม่เข้าข่ายที่จะขอสิทธิบัตรประดิษฐ์ได้ เช่น จุลชีพหรือส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ และวิธีการวินิจฉัยบำบัด และรักษาโรค มนุษย์ หรือสัตว์ และการประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี นอกจากนั้นนักออกแบบที่ต้องการของรับสิทธิบัตรก็ต้องทราบว่า การออกแบบบางชนิดไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรการออกแบบได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่การออกแบบใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมและอนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน รวมทั้งแบบผลิตภัณฑ์ที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

เมื่อผู้ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ได้รับสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์นั้นจะกลายเป็นผู้ทรงสิทธิบัตร ซึ่งจะมีสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหลายประการ กรณีสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ ผู้ทรงสิทธิบัตรมีสิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร และในกรณีสิทธิบัตรกรรมวิธี ผู้ทรงสิทธิบัตร มีสิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย  เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร

อย่างไรก็ตาม ผู้ทรงสิทธิบัตร มีข้อยกเว้นสิทธิบางประการ เช่น  ประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ไม่ขัดต่อประโยชน์ตามปกติของผู้ทรงสิทธิ  หรือการประกอบการ หรือมีเครื่องมือเพื่อประกอบกิจการดังกล่าวโดยสุจริตก่อนวันยื่นขอสิทธิบัตรในไทยโดยผู้ผลิตหรือผู้ใช้ไม่รู้หรือมีเหตุอันควนรู้ถึงการจดทะเบียนนั้น เป็นต้น

จากเงื่อนไขต่างๆที่กล่าวมาผู้ขอจดหรือแจ้งเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาจึงต้องพยายามศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์และกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เข้าใจผิดและเสียเวลาในการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการวางแผนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆจากทักษะและความรู้ที่มีของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่าและได้รับการคุ้มครองในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นธรรมได้ต่อไป

เรียบเรียงโดย สุขวิทย์ โสภาพล 1 มี.ค.2562

เอกสารอ้างอิง ดวงหทัย เพ็ญตระกูล.2562. ทรัพย์สินทางปัญญากับการวิจัย.เอกสารประกอบการอบรมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับการวิจัย.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ใส่ความเห็น