browser icon
You are using an insecure version of your web browser. Please update your browser!
Using an outdated browser makes your computer unsafe. For a safer, faster, more enjoyable user experience, please update your browser today or try a newer browser.

การถกอภิปราย (discussion)ในการหาฉันทามติ

Posted by on 10 พฤษภาคม, 2019

ก่อนที่จะเกิดฉันทามตินั้น ขั้นตอนที่ขาดไม่ได้ คือ การถกอภิปราย ซึ่งสามารถทำได้กว้างขวาง โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนในเวทีหาฉันทามติได้มีส่วนร่วมโดยทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำหมู่บ้าน อสม. ประธานกลุ่มต่างๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ชุมชนให้การยอมรับนับถือ ตลอดจนชาวบ้านหรือสมาชิกชุมชนที่เข้าร่วมในเวทีนั้นๆ ทั้งนี้บรรยากาศในการถกอภิปรายสามารถเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ เช่น มีบรรยากาศการถกอภิปรายที่ดี กล่าวคือ ทุกคนมีความตั้งใจและเต็มใจในการแบ่งปันความคิด ความรู้ หรือความรู้สึกของตนอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันทุกคนเปิดรับในความคิดและความเห็นที่แตกต่างได้  ในทางตรงกันข้ามบรรยากาศในการถกอภิปรายอาจมีลักษณะตึงเครียดจากความคิดความเห็นที่แตกต่างกันและไม่ยอมรับหรือประนีประนอมในความคิดที่แตกต่างนั้น หรือ อาจเกิดบรรยากาศที่มีการครองงำความคิด(Domination) ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเนื่องจากมีสถานะเป็นผู้นำกลุ่ม หรือเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ (informal leader) ที่ได้รับการยอบรับนับถือจากกลุ่มชุมชนหรือมีวาทศิลป์ในการโน้มน้าว ทำให้ผู้ร่วมคนอื่นในเวทีฉันทามติเห็นพ้องด้วย หรือไม่กล้าที่จะให้ความคิดเห็นของตนที่แตกต่างได้

ดังนั้นวิทยากรกระบวนการ( facilitator) ในการถกอภิปรายเพื่อหาฉันทามติจึงมีบทบาทที่สำคัญในการประคับประคองให้บรรยากาศการถกอภิปรายเป็นไปด้วยดี ควบคุมการแสดงความคิดของผู้เข้าร่วมเวทีให้อยู่ในประเด็นที่ถกอภิปราย และไม่นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงบานปลายโดยไม่จำเป็น ดังนั้นวิทยากรกระบวนการจึงควรมีคุณสมบัติที่เหมาะสมหลายประการ ได้แก่ มีความรู้เกี่ยวกับประเด็นที่ถกอภิปราย มีความเข้าใจในบริบทของชุมชนที่เข้าร่วมถกอภิปรายนั้นๆทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี  ความเชื่อ และบรรทัดฐานของชุมชน นอกจากนั้นวิทยากรกระบวนการยังต้องเป็นผู้ที่มีบุคลิกแบบเปิดรับประสบการณ์( opened to experience) มีความเชิงบวก(positive thinking)และมีความเป็นกันเอง( friendly character) ตลอดจนมีวาทศิลป์ในการสื่อสาร (communication skill)กับชาวชุมชน ซึ่งในคุณสมบัติต่างๆของวิทยากรกระบวนการเหล่านี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมถกอภิปรายในเวทีหาฉันทามติรู้สึกอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) นำไปสู่การลดความรู้สึกแปลกแยกกับวิทยากรกระบวนการ( facilitator)หรือผู้เข้าร่วมอภิปรายคนอื่นๆ และกำแพงทางความรู้สึกที่อาจจะมีอยู่นั้นลดลงหรือหมดไป ทำให้ผู้เข้าร่วมถกอภิปรายกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นและประสบการณ์ของตนอย่างเต็มที่ในเวทีอภิปรายซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เวทีในการหาฉันทามตินั้นเสร็จสิ้นลงด้วยดี

กิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการถกอภิปรายจึงอาจเริ่มจากการแนะนำตัวของผู้เข้าร่วมถกอภิปราย ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้มาจากภาคส่วนต่างๆและมีหน้าที่บทบาทแตกต่างกันไปได้รู้จักกันซึ่งจะช่วยให้เกิดความคุ้นเคยกันและบรรยากาศโดยรวมผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากนั้นวิทยากรกระบวนการอาจเชิญผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเวทีเช่น ในกรณีที่เป็นโครงการของรัฐ ก็สามารถเชิญข้าราชการหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวของที่มาร่วมเวทีด้วยได้อธิบายความเป็นมาวัตถุประสงค์และความคาดหวังของการหาฉันทามติในครั้งนั้นๆ แล้วตามด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชน ผู้บริหารหรือตัวแทนจากส่วนปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องได้พูดถึงภาพรวมของชุมชน ตามด้วยผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มได้อภิปรายเกี่ยวกับบทบาท ประสบการณ์ ความคิดเห็นและความต้องการของกลุ่ม ตลอดจนชาวชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง เมื่อการถกอภิปรายดำเนินไประยะเวลาหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 1- 2 ชั่วโมง สำหรับเวทีที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 20-30 คน เมื่อมั่นใจว่าผู้ที่ต้องการถกอภิปรายได้แสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆจนกระทั่งครบถ้วนแล้ว  จึงนำไปสู่การสรุปท้ายเกี่ยวกับฉันทามติ เช่น กรณีหาฉันทามติในประเด็นเกี่ยวกับ โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) จะต้องหาฉันทามติว่าหมู่บ้านจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ จะดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอะไรบ้าง จะให้ความสำคัญกับการดำเนินเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการใดก่อน เป็นต้น

สุขวิทย์ โสภาพล

10 พ.ค.62

ใส่ความเห็น