browser icon
You are using an insecure version of your web browser. Please update your browser!
Using an outdated browser makes your computer unsafe. For a safer, faster, more enjoyable user experience, please update your browser today or try a newer browser.

เกษตรประณีต : แนวคิดและการประยุกต์ใช้

Posted by on 27 พฤษภาคม, 2019

ผลผลิตที่อยู่ในตลาดสินค้าเกษตรและตลาดทั่วไปส่วนมากมาจากการเกษตรกระแสหลัก (Main stream agriculture) ที่ได้แบบอย่างมาจากประเทศทางแถบตะวันตก วิธีการทำเกษตรแบบนี้มาสู่ประเทศโลกที่3 ซึ่งรวมถึงประเทศไทยในช่วงการปฏิวัติเขียว ประมาณ ค.ศ.1960 ทำให้รูปแบบการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นที่มีความหลากหลายของพืชและสัตว์ และเน้นการผลิตเพื่อเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก เปลี่ยนมาเป็นการเกษตรแบบใช้เครื่องจักรกล และปัจจัยการผลิตจำนวนมาก ได้แก่ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืช และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เครื่องมือในการทำการเกษตรส่งผลให้มีต้นทุนที่สูง แต่เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตที่ตนผลิตได้ เนื่องจากราคาเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกลไกตลาด และโดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะเสียเปรียบนายทุนธุรกิจเกษตรในการกำหนดราคารับซื้อผลผลิตอยู่เสมอ
ในระยะเวลากว่า 50 ปี ที่ผ่านมา การทำการเกษตรแบบกระแสหลักในประเทศไทยได้สร้างปัญหาให้กับเกษตรกรหลายประการ โดยเฉพาะผลกระทบจากปุ๋ยเคมีที่ทำให้ดินเสื่อมโทรม กล่าวคือ ดินมีลักษณะแน่น แข็งตัวและไม่อุ้มน้ำ การใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมากอย่างต่อเนื่องยาวนานมีผลทำให้ดินขาดธาตุอาหารรองอีกด้วย นอกจากนั้นธาตุอาหารจากปุ๋ยไนโตรเจนยังตกค้างอยู่ในผลผลิตและสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่การเกษตรในรูปของไนเตรท ผู้บริโภคผลผลิตที่มีการสะสมของสารไนเตรทเป็นประจำต่อเนื่องจึงมีโอกาสได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเช่นโรคมะเร็งได้ นอกจากนั้นสารเคมีปราบศัตรูพืชที่มีราคาแพงและมีพิษอันตรายยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีในการทำการเกษตรอีกด้วย
จากปัญหามากมายที่เกษตรกรได้รับผลกระทบจากเกษตรกระแสหลัก ทำให้มีกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านอีสานและพหุภาคีภาคอีสานระดมความคิดว่าจะมีวิธีการทำเกษตรแบบใดบ้างที่จะทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากปัญหาการทำเกษตรแบบกระแสหลัก เมื่อมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจัดการความรู้จากทั้งประสบการณ์ฝังลึก(Tacit knowledge) และความรู้ชัดแจ้ง (Explicit knowledge) กันจนตกผลึกทำให้ได้คำตอบร่วมกันว่า “เกษตรประณีต” คือแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่จะช่วยเกษตรกรได้ เนื่องจากแนวคิดเกษตรประณีตยึดหลักของความสมดุลและเกื้อกูลกันของกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลายในพื้นที่เล็กๆขั้นต่ำเพียง 1 ไร่ที่ใช้ในการทำการเกษตร โดยมีเป้าหมายเพื่อความพออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้ และหมดภาระหนี้สินต่างๆ
หนึ่งในปราชญ์ชาวบ้านที่มีแนวคิดที่ชัดเจนและทำการเกษตรประณีตเป็นแบบอย่าง คือ พ่อคำเดื่อง ภาษี ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับเกษตรประณีต ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เราต้องคิดว่าเราคือผู้แพ้สงครามเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีจนดินเสื่อมหมดแล้ว เป็นหนี้สินพ้นตัวหนีมาพื้นแผ่นดินใหม่ มีพริก มะเขือ ผักชนิดต่าง ๆ ไก่บ้าน ปลาในบ่อ เป็นพลทหาร จะระดมพลออกรบเมื่อไหร่ก็ได้ มีพืชสมุนไพรผักพื้นบ้านเป็นยา ใช้รักษายามเจ็บไข้ มีลูกยอ กล้วย เป็นนายสิบ มีไผ่เป็นนายร้อย มียางนา ตะเคียนทอง เป็นนายพัน นายพลโดยมีเจ้าของสวนเป็นจอมทัพ สะสมกำลังอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ เพียงหนึ่งไร่ ไม่ต้องหวังร่ำรวย เอาแค่พออยู่พอกิน หวังสร้างทรัพย์สินทางปัญญาเป็นมรดกให้ลูกหลาน ทำอย่างนี้เท่านั้นที่จะนำพาชีวิตครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติไปสู่ชัยชนะได้”
จากแนวคิดของพ่อคำเดื่องได้อย่างชัดเจนดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เกษตรประณีตไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกมาก แต่ต้องใช้พื้นที่ที่มีนั้นอยู่อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยพยายามปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลายให้สามารถเกื้อกูลและอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุล เช่น การปลูกพืชหลายชนิดในหลุมเดียว และการปลูกพืชที่หลากหลายโดยปลูกเหลื่อมเวลากัน เป็นต้น ปราชญ์ชาวบ้านอีกท่านหนึ่งแม้ว่าท่านได้ล่วงลับไปแล้ว คือ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤกษ์ แต่ได้ทิ้งแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่สำคัญเกี่ยวกับเกษตรประณีตไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ผักที่ปลูกตามฤดูกาลเป็นผักอายุสั้นซึ่งมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาปลูกเช่นผักกะหล่ำปลี ต้นหอม ถั่วฝักยาว ผักกาด พริก เป็นต้น รอบแปลงจะปลูกไม้พุ่ม ไม้ผล ไม้เลื้อย อาทิเช่น มะละกอ แก้วมังกร น้ำเต้า ใต้โครงไม้เลื้อยหรือไม้ใหญ่ก็จะมีผักประเภทที่ไม่ต้องอาศัยแสงมากในการเจริญเติบโตโดยรอบพื้นที่จะปลูกดอกไม้ที่ช่วยดึงแมลงมีประโยชน์ในพื้นที่ อาทิเช่น ต้นดาวเรือง”
จากตัวอย่างแนวคิดและการปฏิบัติของปราชญ์ทั้งสองท่าน เกษตรสามารถนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่เพาะปลูกของตนเอง โดยต้องพิจารณาเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ของตนว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ทั้งลักษณะของดิน ความใกล้ไกลจากแหล่งน้ำ ทรัพยากรที่มีและสภาพแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนพิจารณาถึงชนิดพืชและสัตว์ที่คนในครอบครัวต้องการที่จะบริโภคและมีโอกาสที่จะขายได้ในชุมชนหากเหลือจากบริโภค ตลอดจนต้องมีความเหมาะสมที่จะเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งเหมาะสมสอดคล้องจำนวนแรงงานในครอบครัว อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการเข้าใจในหลักการของเกษตรประณีตคือ การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสังเกตเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ลงมือปฏิบัติเพื่อปรับปรุงแก้ไขและพัฒนากิจกรรมการเกษตรของตนเองตลอดเวลาย่อมนำไปสู่ความสำเร็จในการพึ่งตนเองได้ในที่สุด

สุขวิทย์ โสภาพล
27 พ.ค.2562

ใส่ความเห็น