browser icon
You are using an insecure version of your web browser. Please update your browser!
Using an outdated browser makes your computer unsafe. For a safer, faster, more enjoyable user experience, please update your browser today or try a newer browser.

หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ : ปัจจัยที่ท้าทายสู่ความสำเร็จจากมุมมองของพี่เลี้ยง

Posted by on 21 พฤษภาคม, 2019

จุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่เกิดจากฝีมือและภูมิปัญญาของชุมชน คือโครงการOTOP หรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ได้เพิ่มเริ่มต้นครั้งแรกที่ประเทศไทย แต่เป็นแนวคิดและการปฏิบัติที่ดีจนเกิดผลดีเลิศ (best practice) ในประเทศญี่ปุ่นมาก่อน โดยเฉพาะในกรณีของเมืองโออิตะที่มีผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนของตนเอง ได้แก่ บ๊วยและเกาลัดแปรรูปต่างๆ เรื่องจักรสานจากไม้ไผ่ที่ประณีตงดงาม น้ำปลาที่มีรสชาติเฉพาะตนที่ส่งขายไปไกลถึงต่างประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามที่ประกอบด้วยน้ำพุร้อนและแปลงดอกไม้เมืองหนาว ซึ่งสามารถสร้างรายได้ ความเจริญ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งญี่ปุ่นและต่างประเทศมาเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี ที่จากเดิมเป็นชุมชนที่มีข้อจำกัดหลายด้านและห่างไกลความเจริญอย่างมาก เมืองโออิตะ จึงถือเป็นต้นแบบแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวของชุมชน ด้วยภูมิปัญญาและฝีมือของชุมชนที่มีอัตลักษณ์นำไปสู่การสร้างรายได้และยกระดับเศรษฐกิจและของชุมชน  

ชาวบ้านในชุมชนต่างๆในประเทศไทยในแต่ละภูมิภาคและท้องถิ่นมีภูมิปัญญาและฝีมือในการสร้างผลิตภัณฑ์ของตนเองที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีทั้งความแตกต่างและคล้ายคลึงขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ประเพณี ทรัพยากรในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งสามารถสร้างรายได้กับครัวเรือนได้ตามอัตภาพและเมื่อได้รับการส่งเสริมผลักดันจากภาครัฐด้านเงินทุน การต่อยอดความรู้ และการตลาดตามโครงการของรัฐบาลหลายๆรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้สินค้าจากชุมชนจำนวนไม่น้อยได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จในสร้างรายได้ที่ยกระดับชีวิตของชุมชนได้พอสมควร อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกิดจากชุมชนจำนวนมากไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อันเกิดจากข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถเอาชนะได้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ขาดความต่อเนื่องในการผลิต ปัญหาด้านเงินทุน ปัญหาด้านการตลาด ความสามารถในการจัดการ ทำให้กลุ่มที่ตั้งขึ้นเป็นวิสาหกิจหรือกลุ่มอาชีพได้ปิดตัวลง เราจึงมักได้ยินคำที่พูดกันอยู่เสมอเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชุมชน ว่า “ผลิตแล้วจะขายให้ใคร”

หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการพัฒนาชุมชนได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการทำงานด้วยตนเองและประสานกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆที่เป็นแหล่งความรู้ในหลากหลายศาสตร์อย่างครบถ้วน ทั้งด้านการพัฒนาชุมชน การออกแบบผลิตภัณฑ์ การท่องเที่ยว การบริหารจัดการ การเงินและบัญชี และการตลาด  ผ่านโครงการมากมายเพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยผลิตภัณฑ์โดยภูมิปัญญาของตนเอง อย่างไรก็ตามพบว่าที่ผ่านมาในภาพรวมยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรและยังคงต้องได้รับการพัฒนาและต่อยอดต่อไป

โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ( Creative industry village: CIV) โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการในชุมชนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เชิงพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวของชุมชนอันเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและรายได้นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้นหมู่บ้านจึงต้องเลือกผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆเข้าไปช่วยให้คำแนะนำเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงและเป็นวิทยากรกระบวนการที่เข้าชวนชาวบ้านได้คิดทบทวนและระดมสมองเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวของตนเองจนนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายของชาวบ้านและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการดำเนินสู่การเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จึงมีหลายประการ ได้แก่ การทำให้เกิดวิธีคิดเกี่ยวกับเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาว่าต้องการไปสู่หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่ออะไร ผู้ประกอบการ(เช่น กลุ่มอาชีพหรือวิสาหกิจชุมชนต่างๆ)ได้ประโยชน์อะไร หมู่บ้านจะได้อะไร ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนได้อะไร สังคมโดยรวมได้อะไร และแต่ภาคส่วนของหมู่บ้านต้องมีบทบาทและมีส่วนร่วมอย่างไร ซึ่งต้องอาศัยความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวบ้านที่มีความมุ่งมั่นจริงจังในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาหมู่บ้านของตน รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการอันเกี่ยวกับภาวะผู้นำของผู้ประกอบการและผู้นำชุมชนและผู้นำกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ต้องมีการจัดโครงสร้างการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสมลงตัว เพื่อให้สามารถร่วมมือและช่วยเหลือกันอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ตลอดจนความเข้าใจในบริบท จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของชุมชนหรือหมู่บ้านตนเองอย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังต้องมีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการสู่มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายและมีอัตลักษณ์ของตนเอง ตลอดจนรักษามาตรฐานนั้นได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือความเข้าใจเกี่ยวกับการตลาด โดยเฉพาะความสัมพันธ์การสร้างโอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ชุมชนกับการท่องเที่ยวอย่างถ่องแท้ ซึ่งการทำตลาดในปัจจุบันนั้นต้องนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสื่อสารและเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network)เข้ามาช่วยในการดำเนินการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  นอกจากนั้นไม่อาจมองข้ามเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างเครือข่ายการทำงานและประสานงานกับภาครัฐและเอกชน เพื่อให้หมู่บ้านสามารถรับการสนับสนุนในปัจจัยที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสู่หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กรณีที่ชุมชนไม่สามารถจัดหาได้ด้วยตนเอง (เมื่อชุมชนได้พยายามพึ่งตนเองอย่างถึงที่สุดแล้ว) นอกจากนั้นรัฐยังเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นผลักดันและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของหมู่บ้านให้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวในภาพรวมของจังหวัดหรือประเทศที่ชัดเจนได้มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างความต่อเนื่องและยั่งยืนของหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อไป

สุขวิทย์ โสภาพล

21 พ.ค.2562

ใส่ความเห็น