งานวิจัยเพื่อรับใช้สังคม คำนี้ฟังดูเหมือนยิ่งใหญ่ ผู้ที่คิดจะทำงานวิจัยแนวนี้อาจจะคิดว่ามันน่าจะงานหนัก และ คงเหนื่อยน่าดู แต่แท้ที่จริงแล้ว ก็คือ งานวิจัยเชิง PAR (Participatory Action Research) นั่นเอง งานวิจัยแนวนี้จะมีลักษณะคล้ายกับงานบริการวิชาการ แต่จะมีขอบข่ายมากกว่าคือการนำหลักคิด ทฤษฎี ที่เราเรียนรู้มา และนำไปปรับแก้ปัญหาที่ชุมชนประสบ ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างไร้จุดหมาย และที่สำคัญคนที่จะแก้ปัญหาจะต้องเป็นคนที่กำลังประสบปัญหานั้นอยู่ ซึ่งนักวิชาการที่เข้าไปทำวิจัยแนวนี้จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำแนวทางการแก้ปัญหา พร้อมชี้แนะวิธีการคิด วิเคราะห์ เก็บข้อมูล เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่ประสบอยู่ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนหลังจากงานวิจัยเสร็จสิ้น ชุมชนจะสามารถคิด แก้ปัญหาเองได้ โดยใช้ขบวนการ แนวคิด และวิธีการที่ได้เคยร่วมขบวนการแก้ปัญหามาก่อน
โจทย์ปัญหาการวิจัยต้องมาจากชุมชน ไม่ใช่สิ่งที่นักวิชาการต้องการจะทำ แต่นักวิชาการจะทำหน้าที่ช่วยวิเคราะห์ ปัญหาที่ชุมชนประสบอยู่ว่าถูกต้องตรงตามที่ชุมชนบอกหรือไม่ หลังจากนั้นจึงใช้ขบวนการเรียนรู้เข้าร่วมแก้ไขปัญหา และนำไปสู่ทางออกโดยต้องตอบโจทย์ชุมชนว่าสามารถเกิดผลในทางพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น รวมถึงเกิดโอกาสใหม่ๆในการดำรงชีพให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนเพราะชุมชนเกิดการเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาโดยใช้องค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้ร่วมกันกับนักวิจัยพี่เลี้ยง
ในปัจจุบันงานวิจัยในแนวนี้มักได้รับการใส่ใจจากผู้จัดสรรทุนวิจัยเพิ่มขึ้น อาจจะถึง 70% ของงบประมาณการวิจัยที่ทุกสถาบันวิจัยที่ให้ทุน ที่เหลือ 30% คืองานวิจัยกระแสหลักที่จะสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ รวมถึงการขอผลงานทางวิชาการก็สามารถนำงานวิจัยแนวนี้ไปส่งขอผลงานได้โดยใช้แท่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยจะต้องใช้ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยแนวนี้เป็นผู้อ่านผลงานที่เสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ผู้เขียนหวังว่าเพื่อนๆชาวบริหารศาสตร์จะเกิดความเข้าใจและร่วมดำเนินการวิจัยในแนวนี้มากขึ้น พร้อมกันนี้แหล่งทุนได้จัดสรรงบประมาณรองรับผู้เสนอโครงการวิจัยแนวนี้สูงมากขึ้น แม้ว่าทุกปีทุนที่จัดสรรไว้จะเหลือในปริมาณศุงมากและต้องส่งกลับให้กระทรวงฯที่เกี่ยวข้องในปริมาณสูงจนน่าเสียดาย