จากการดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยท้องถิ่นร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสกว.ช่วงปี 2549-2555 และ ได้มีการทำMOU ในปี 2554 นั้น อ.กาญจนา ทองทั่ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ผู้ประสานงานหลักที่ทำให้เกิดMOU ขึ้น และเป็นทีมนักวิจัยพี่เลี้ยงให้กับนักวิจัย ได้นำเสนอข้อค้นพบเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้จากการดำเนินโครงการวิจัยท้องถิ่นร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีประสบความสำเร็จในการประชุม “การขับเคลื่อนงานวิจัยท้องถิ่นเข้าสู่ระบบงานวิจัย กรณีศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2556 ที่ห้องประชุมบุณฑริก สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีดังนี้
ปัจจัยพื้นฐาน
1.นักวิจัย/อาจารย์เป็นผู้มีจิตอาสาในการทำงานให้ ชุมชน สังคม
2.มีเครือข่ายนักวิจัยที่เคยทำงานวิจัยท้องถิ่นร่วมกันมาก่อน กระจายอยู่ในคณะต่างๆ
3.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยมีศักยภาพ ต้องการเรียนรู้ และมีความกระตือรือร้นในการติดตามงาน
4.ผู้บริหารกำหนดยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่ทำงานวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน
5.ผู้บริหารแต่ละคณะให้การสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ปัจจัยหนุนเสริม
1.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ชุด ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้เสนอแนวทางปฏิรูปอุดมศึกษา โดยให้มีการทำงานวิชาการอีกรูปแบบหนึ่งคือ แนวรับใช้สังคมไทย
2.มีทีมพี่เลี้ยงที่พร้อมจะสอนและให้การสนับสนุนในการดำเนินงานทุกขั้นตอน
3.การจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยน เวทีรายงานความก้าวหน้าทำให้เห็นการขับเคลื่อนงานวิจัย
4.ทีมงานทั้งศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ชุดนักวิชาการ และกองส่งเสริมการวิจัย ทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
5.แหล่งสนับสนุนทุน คือ สกว.เป็นแหล่งทุนที่ได้รับการยอมรับ
จากค้นพบของ อ.กาญจนา ทองทั่ว ดังกล่าว กระผมในฐานะที่เป็นหนึ่งในนักวิจัยในโครงการนี้เห็นว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังมีโอกาสพัฒนางานวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า และสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยฯได้อีกมาก เพราะนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นกว่า 48 ชีวิตในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีต่างมีความกระตือรือร้นที่พัฒนาตนเอง และมีจิตอาสาที่จะพัฒนาสังคมและชุมชนไปพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนงานพัฒนาท้องถิ่นให้มีความก้าวหน้าและยั่งยืนนั้น กลไกหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือ การสร้างระบบนักวิจัยพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ที่จะทำหน้าที่ช่วยสร้างโอกาส ดูแลช่วยเหลือ ให้การสนับสนุน และให้ข้อเสนอแนะแก่นักวิจัยในการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งกลไกนี้จะทำให้การวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้มีประสิทธิภาพ และมีการต่อยอดงานวิจัยได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้นักวิจัยที่พัฒนาตนเองเป็นนักวิจัยพี่เลี้ยงก็จะสามารถพัฒนาตนเองขึ้นไปได้อีกระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ได้พบว่า นักวิจัยทุกคนก็ต้องการให้มีทีมนักวิจัยพี่เลี้ยงซึ่งจะพัฒนาจากนักวิจัยท้องถิ่นรุ่นพี่ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นแล้วพอสมควรและมีจิตอาสาที่ต้องการอำนวยการ ช่วยเหลือ ส่งเสริม และให้ข้อเสนอแนะแก่นักวิจัยคนอื่นๆ โดยเฉพาะนักวิจัยที่ยังมีประสบการณ์ไม่มากนัก หรือเป็นนักวิจัยหน้าใหม่ ซึ่งผมมีความเห็นว่าหากมีการขับเคลื่อนโดยระบบทีมพี่เลี้ยงเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง และมีระบบหมุนเวียนให้นักวิจัยคนอื่นๆที่เริ่มมีความสามารถเพียงพอ(อาจเป็นผู้ที่ได้เรียนรู้การทำงานแบบประกบคู่ไปกับนักวิจัยพี่เลี้ยงในรุ่นก่อนหน้าแล้ว) เข้ามาเสริมหรือทดแทนนักวิจัยพี่เลี้ยงที่อาจมีไม่เพียงพอหรือมีงานล้นมือเมื่อประชาคมนักวิจัยได้ขยายตัวหรือเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็จะทำให้เกิดประชาคมนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
สุขวิทย์ โสภาพล 6 ม.ค. 2556