browser icon
You are using an insecure version of your web browser. Please update your browser!
Using an outdated browser makes your computer unsafe. For a safer, faster, more enjoyable user experience, please update your browser today or try a newer browser.

หลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไป : แนวคิด และการขับเคลื่อนในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Posted by on 22 กุมภาพันธ์, 2013

 

           กลุ่มวิชาหนึ่งที่ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรทุกหลักสูตร คือ วิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งตามความหมายในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2548 เรื่อง โครงสร้างหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป  ได้ให้ความหมายวิชาศึกษาทั่วไปว่า หมายถึง วิชาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล มีความเข้าใจธรรมชาติตนเอง ผู้อื่นและสังคม เป็นผู้ไฝ่รู้ สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารความหมายได้ดี มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าศิลปะและวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ  สามารถถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างดี

            ดังนั้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ของวิชาการศึกษาทั่วไป สถาบันอุดมศึกษาสามารถจัดวิชาศึกษาทั่วไปได้ทั้งแบบเป็นรายวิชา และแบบบูรณาการโดยผสมผสานทั้งกลุ่มวิชา สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ภาษา ตลอดจนวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ โดยมีหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต ทั้งนี้การออกแบบโครงสร้างหมวดวิชาศึกษาทั่วไปในปัจจุบัน  จะต้องสอดคล้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2552 ทั้ง 5ด้าน คือ ด้านคุณธรรม ด้านความรู้ ด้านทักษะทางปัญญา ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และด้านทักษะวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยี

            สำหรับสถานการณ์การจัดวิชาศึกษาทั่วไปมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้น ได้มีการเริ่มพัฒนาและปรับปรุงการจัดวิชาศึกษาทั่วไปอย่างจริงจังและเป็นระบบมากขึ้นในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปี(ปีการศึกษา 2555) ที่ผ่านมาโดยได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินงานหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไปขึ้นมา โดยได้คณะกรรมการจากตัวแทนของแต่ละคณะ สำหรับคณะบริหารศาสตร์นั้นผมได้เป็นตัวแทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย (ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ 147/2556 )จึงประสงค์จะบอกเล่าถึงความเคลื่อนไหวในวิชาศึกษาทั่วไปว่า การประชุมครั้งล่าสุดของคณะกรรมการดำเนินงานหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไปเมื่อวันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556  เวลา 9.00-12.00 ห้องประชุมวารินชำราบ คณะกรรมการฯได้มีการร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของคำอธิบายรายวิชาแต่ละวิชา และความถูกต้องมาตรฐานการเรียนรู้ (Curriculum Mapping) ของหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไป (ฉบับย่อ) ซึ่งเตรียมที่จะส่งให้ทาง สกอ.พิจารณาในขั้นต่อไป โดยปัจจุบันนี้มีรายวิชาศึกษาทั่วไปทั้งหมด 58 รายวิชา รายวิชาที่เปิดสอน ภาคกาศึกษา 1/ 2555 จำนวน 47 รายวิชา สำหรับรายวิชาศึกษาทั่วไปของคณะบริหารศาสตร์มี 4วิชาที่ปรากฎในเล่มหลักสูตรการศึกษาทั่วไป คือ 1708200 พุทธเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจพอเพียง (Buddhist Economics and Sufficiency Economy) ซึ่งผมเป็นผู้สอนคนหนึ่งในวิชานี้ด้วย  1700100 การจัดการธุรกิจสมัยใหม่ (Modern Business Management) 1703110 ทักษะการเงินในชีวิตประจำวัน (Finance Skill in Daily Life) และ 1706102 สารสนเทศเพื่อชีวิตยุคใหม่ (Information System for Modern Life)

          อย่างไรก็ตาม การจัดวิชาศึกษาทั่วไปในละภาคการศึกษา ควรต้องคำนึงถึงทั้งจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนในแตละรายวิชาที่มีความเหมาะสมไม่มากหรือน้อยจนเกินไป และจำนวนห้องเรียนพอเพียงและเหมาะสม ตลอดจนผู้สอนควรใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลาย ไม่ใช้วิธีบรรยายเพียงอย่างเดียว ดังนั้นคณะกรรมการดำเนินงานหลักสูตรฯ และอาจารย์ผู้สอนควรได้ไปศึกษาดูงานจากสถาบันการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ และอบรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการจัดการเรียนสอนวิชาศึกษาทั่วไปเพิ่มเติม นอกจากนี้ควรได้มีการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอโดยอาจารย์ผู้สอนวิชาศึกษาทั่วไปต้องทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับการสอนวิชาศึกษาทั่วไป และนำไปเผยแพร่ในการจัดประชุมวิชาการตามโอกาสต่างๆ ด้วย

สุขวิทย์ โสภาพล

22 ก.พ.2556

 

ใส่ความเห็น