การทวนสอบหมายถึง ดำเนินการหาหลักฐานด้วยวิธีการใดๆ เช่น การสังเกต การตรวจสอบ การประเมิน การสัมภาษณ์ เป็นต้น เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่กำหนดขึ้นนั้น ได้มีการดำเนินการและบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยทั่วไปการทวนสอบมาตรฐานจะมีกลยุทธ์ดังต่อไปนี้
1.การตรวจสอบการให้คะแนนจากกระดาษคำตอบข้อสอบและงานที่ได้รับมอบหมาย
2 การตรวจสอบการประเมินหลักสูตรโดยนักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษา
3.การตรวจสอบภาควิชาหรือสาขาวิชาและหลักสูตรโดยบุคคลภายนอก
4.การรายงานเกี่ยวกับทักษะของบัณฑิตโดยผู้ใช้บัณฑิต
จากการที่ผมได้ไปอบรม เมื่อวันที่ 11-12 มีนาคม 2556 ที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม และได้ร่วมสังเกตกระบวนการทวนสอบมาตรฐานรายวิชาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นต้น โดยทางผู้จัดใช้วิธีการทวนสอบฯในครั้งนี้ว่า “การสัมภาษณ์” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 ท่าน จะนั่งเรียงกันเป็นแถวหน้ากระดาน มีผู้บันทึกข้อมูลนั่งอยู่หัวโต๊ะและมีเก้าอี้สำหรับผู้ให้สัมภาษณ์จำนวนเท่ากันวางเรียงอยู่ตรงข้ามกัน กระบวนการเริ่มต้นโดยน้องๆเจ้าหน้าที่จะเชิญอาจารย์ ผู้รับผิดชอบรายวิชาจัดเรียงไว้แล้วตามลำดับ อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและผู้สอนจะต้องอธิบายและตอบคำถามกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีเอกสาร มคอ.3 และมคอ.5 อยู่ในมือทุกคน คำถามจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีหลากหลาย เช่น ถามว่าจำนวนผู้เรียนมีจำนวนเท่าไหร่ มีกี่กลุ่ม มีกระบวนการวางแผนและการจัดการเรียนการสอนอย่างไร มีสัดส่วนการให้คะแนนอย่างไร (คะแนนเก็บ ต่อคะแนนสอบ) กรรมการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า ใน มคอ.3 ระบุว่ามีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษามีคุณธรรม จริยธรรม แต่ทำไมวิธีการสอนระบุว่าเป็นบรรยายเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้านคุณธรรมได้ หรือ ในMapping (จุดขาว จุดดำ ในทักษะทั้ง 5ด้าน)ของวิชาหลายวิชาที่แตกต่างกันทำไมเหมือนกันทั้งหมด หรือ การระบุวัตถุประสงค์ว่าสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้นั้นประเมินผลได้ยาก เพราะไม่ได้ติดตามนักศึกษาได้ว่านำไปใช้หรือไม่ หรือกรณีการให้คะแนนโดยวัดจากการแสดงการให้ยกมือแล้วแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาในชั้นเรียน ต้องพึงระมัดระวังเพราะนักศึกษาอีกจำนวนมากจะไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วม ซึ่งจะไม่เป็นธรรมกับนักศึกษา ตลอดจนเอกสารประกอบการสอนควรมีการปรับอยู่เสมอ โดยใช้ข้อมูลจาก มคอ.5 ของภาคการศึกษาก่อนหน้ามาเป็นแนวทางในการปรับปรุง นอกจากนี้กรรมการบางท่านได้เสนอแนะว่าการสอนให้นักศึกษามีทักษะด้านปัญญาต้องออกข้อสอบให้นักศึกษาคิดและวิเคราะห์ ขณะที่การวัดความคิดสร้างสรรค์อาจให้นักศึกษาจัดทำสื่อเช่น VDO ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรายวิชานั้นๆแล้วให้นักศึกษาลงในyou tube แล้วดูความคิดสร้างสรรค์จากแนวคิด และวิธีการนำเสนอของนักศึกษาผ่าน VDO นั้น นอกจากนี้วิชาศึกษาทั่วไปที่เน้นการนำไปใช้ต้องมีวิธีการสอนที่ไม่เน้นความรู้ความจำมากเกินไป เป็นต้น
จากกระบวนการทวนสอบฯข้างต้น ผมมีความเห็นว่าในการจัดการเรียนการสอนในวิชาศึกษาทั่วไป วิชาบังคับ หรือวิชาใดๆก็ตาม ให้บรรลุวัตถุประสงค์ จะต้องเริ่มจากการไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนว่าวิชาที่สอนนั้นๆ นักศึกษาควรได้ทักษะอะไรบ้างใน 5 ด้าน ด้วยวิธีการสอนแบบใดที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละทักษะ และสุดท้ายสามารถประเมินได้ว่านักศึกษาได้ทักษะนั้นๆหรือไม่ นอกจากนี้ต้องสามารถนำผลประเมินที่ได้ไปสู่การพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนของเราได้ต่อไป และที่สำคัญกระบวนการต่างๆที่ได้ดำเนินการต้องแสดงให้ปรากฏให้เห็นได้ในแบบฟอร์มต่างๆ เช่น มคอ.3 และมคอ.5 เป็นต้น เพราะสุดท้ายเราต้องใช้เอกสารเหล่านี้เพื่องานประกันคุณภาพต่อไป อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวผมเห็นว่าการพยายามให้ทุกๆวิชาสามารถให้ทักษะทั้ง 5 ด้านไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักในทางปฏิบัติ แต่ถ้าทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่าเป็นความตั้งใจที่ดีของผู้ที่กำหนดแนวทาง แต่ถ้าพยายามแล้วไม่ได้หรือไม่เหมาะสมลงตัวกับวิชานั้นจริงๆ ผมคิดว่าบางครั้งก็ไม่ควรต้องฝืนเกินไป
สุขวิทย์ โสภาพล
12 มี.ค.2556