การจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันมีคู่มือสำเร็จรูปที่เรียกว่า กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดให้มหาวิทยาลัยและสถาบันที่เทียบเท่าทุกแห่งต้องใช้เป็นมาตรฐานในการจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อเป็นหลักประกันว่าสถาบันนั้นมีมาตรฐานที่ดีพอในการผลิตบัณฑิตมาสู่สังคม และ กระบวนหนึ่งที่มีความสำคัญในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ คือ การทวนสอบมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูว่าการจัดการเรียนการสอนของเราเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนปัจจุบันมุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะ 5 ทักษะ ทั้งด้านคุณธรรมจริยธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและทักษะวิเคราะห์เชิงตัวเลข สื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี ทั้งนี้การทวนสอบมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ตามกรอบมาตรฐานฯสามารถพิจารณาได้ทั้งจากกระบวนการ (Process) และผลลัพธ์ (Output) และทำได้หลายระดับทั้งระดับตนเอง รายวิชา หลักสูตร และภาควิชาหรือสาขาวิชา
กรณีทวนสอบฯจากกระบวนการจัดการเรียนการสอน(Process)ในระดับรายวิชา เนื่องจากวิธีการจัดการเรียนสอนที่หลากหลายที่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้สอนที่ต้องการให้เกิดทักษะใดในตัวผู้เรียน เช่น ด้านความรู้สามารถทำได้ตั้งแต่การบรรยาย การจัดให้นักศึกษาดูสารคดี จากVCD จากWebsite การให้นักศึกษาฟังจากแหล่งความรู้ การให้นักศึกษาอ่านหนังสือ ตำราหรือเอกสารประกอบการสอน ส่วนด้านทักษะทางปัญญาผู้สอนต้องสามารถทำให้นักศึกษาสามารถมองเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา จำแนกแยกแยะสิ่งที่มีความซับซ้อนหรือไม่ชัดเจนได้ แก้ปัญหาจากโจทย์ปัญหาหรือกรณีศึกษาได้ เสนอแนวคิดใหม่ๆ การสร้างวิธีการที่สร้างสรรค์ เสนอสิ่งต่างๆที่แตกต่างไปจากเดิม สะดวกกว่าเดิม ประหยัดกว่าเดิม รวดเร็วกว่าเดิม ทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น สามัคคีกันมากขึ้น สงบและมีสันติมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งหากกล่าวถึง ปัญญาทางพุทธศาสนา มนุษย์ที่มีปัญญาต้องสามารถเห็นหรือรู้แจ้งถึงทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ไม่ปรุงแต่งและไม่หลงไปกับสิ่งต่างๆรอบตัวหรือแม้กระทั่งตัวเราเองที่ไม่จีรังยั่งยืน ขณะที่ทักษะด้านคุณธรรมจริยธรรม การโดยใช้การสอนแบบบรรยายอย่างเดียวจะสามารถทำให้นักศึกษาได้มีความรู้และเข้าใจเนื้อหาของคุณธรรมจริยธรรม แต่ไม่มีหลักประกันใดๆว่าผู้เรียนจะเกิดซึมซับคุณธรรมที่ได้เรียนผ่านการบรรยายนั้นๆ ดังนั้น การจัดการเรียนสอนจึงต้องใช้เทคนิคอื่นๆเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากการบรรยาย เช่นหากต้องการสร้างคุณธรรมจริยธรรมที่เกี่ยวกับความมีวินัย ก็ต้องให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงเช่น กรณีผู้เรียนไม่ส่งงานที่ได้รับมอบหมายตามกำหนดเวลา หรือ ผู้เรียนเข้าเรียนสายเป็นประจำ ผู้สอนก็อาจจะใช้ระบบการให้คะแนนเป็นเครื่องมือในการาฝึก เช่น การหักคะแนนตามจำนวนครั้งที่ผู้เรียนไม่ตรงต่อเวลา แล้วแจ้งให้ผู้เรียนทราบผลเป็นระยะ และหากผู้เรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นก็ควรมีวิธีการเพื่อให้กำลังใจหรือส่งเสริมให้ทำดีต่อไป เป็นต้น หรือกรณีต้องการให้นักศึกษามีคุณธรรมด้านความประหยัดอดออม ผู้สอนก็อาจจะให้ผู้เรียนได้บันทึกรายรับรายจ่ายประจำวันระยะเวลา 1 เดือน แล้วให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์ตนเองว่ามีรายจ่ายอะไรที่เกินความจำเป็นแล้วจึงให้ผู้เรียนพยายามลดรายจ่ายนั้น และบันทึกรายรับรายจ่ายอีกครั้งว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างและมีความรู้สึกอย่างๆไร หรือการให้ผู้เรียนเล่นเกมที่ออกแบบมาเพื่อทดสอบคุณธรรมจริยธรรม แล้วช่วยกันวิเคราะห์พฤติกรรมและความคิดของตนเองและของกลุ่มที่เกิดขึ้นระหว่างเล่นเกม แล้วผู้สอนช่วยเชื่อมโยงให้นักศึกษาเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับคุณธรรมข้อใดอย่างไร เป็นต้น ส่วนทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและ ทักษะวิเคราะห์เชิงตัวเลข สื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี ผู้สอนก็ต้องเลือกวิธีการสอน สื่อการสอน กิจกรรม และวิธีการวัดผลที่แตกต่างและหลากหลายผสมผสานกันไป ซึ่งแล้วแต่บริบทของแต่ละรายวิชา
ดังนั้นการทวนสอบผลมาตรฐานผลสัมฤทธิ์โดยพิจารณาที่กระบวนการสอนดังกล่าวข้างต้น จึงสามารถทวนสอบสิ่งที่ปรากฏในแผนการสอน หรือมคอ. 3 ว่าวิธีการสอน สื่อการสอน การวัดผล สอดคล้องกับทักษะที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวนักศึกษาหรือไม่ และสามารถทวนสอบเพิ่มเติมโดยพิจารณาจาก มคอ.5 ว่าผลการจัดการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนได้ผลการศึกษาหรือเกรดเป็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ หรือ มีผู้เรียนมีข้อเสนอแนะในการจัดการเรียนการสอนอย่างไร เป็นต้น ดังนั้นโครงสร้างคะแนนและเงื่อนไขการให้คะแนนของผู้สอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพ (ทักษะที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน) ถ้ากระจกที่ใช้สะท้อนไม่ใสเพียงพอ(มีอคติ) หรือไม่ตั้งฉากกับวัตถุ (เกณฑ์การให้คะแนนยากหรือง่ายเกินไป เป็นต้น)ก็จะสะท้อนภาพที่บูดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงได้
ส่วนกรณีทวนสอบผลมาตรฐานผลสัมฤทธิ์โดยพิจารณาจากผลลัพธ์ (Output) สามารถพิจารณาจากตัวผู้เรียนที่เมื่อผ่านกระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรแล้วมีความสามารถสร้างผลงานจนได้รับรางวัล หรือแสดงความสามารถที่เป็นที่ยอมรับแก่สังคมหรือวงการศึกษา หรือเมื่อจบการศึกษาแล้วเป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง หรือพึ่งตนเองได้ด้วยอาชีพหรือกิจการของตนเอง หรือไม่ มากน้อยเพียงใด เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทวนสอบในระดับหลักสูตร ว่าหลักสูตรมีคุณภาพและผลิตบัณฑิตได้มีคุณภาพหรือไม่นั่นเอง
โดยความคิดเห็นของผมแล้ว การทวนสอบผลมาตรฐานผลสัมฤทธิ์โดยพิจารณาจากผลลัพธ์ (Output) หรือจากผู้สำเร็จการศึกษานี้เป็นสิ่งไม่สามารถมองข้ามได้เลย เพราะจะเป็นตัวชี้วัด หรือบทพิสูจน์ขั้นสุดท้ายคุณภาพของกระบวนการจัดการเรียนการสอนทั้งหมดที่ได้ทำมาตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของหลักสูตรแต่ละหลักสูตรในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพของบัณฑิตมากยิ่งขึ้น การทวนสอบจากความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต หรือการติดตามความสำเร็จจากการประกอบกิจการส่วนตัวของบัณฑิตจนสามารถพึ่งตนเองได้ จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นหนึ่ง เพื่อเป็นการทวนสอบว่าเมื่อบัณฑิตที่ได้ทำงานแล้วได้แสดงความสามารถหรือประสิทธิภาพในการทำงานมากน้อยอย่างไร
สุขวิทย์ โสภาพล
12 เม.ย.2556