งานวิจัยท้องถิ่นกำลังที่เป็นที่สนใจและเป้าหมายของแหล่งทุนวิจัยของรัฐมากขึ้นเป็นลำดับ และงานวิจัยประเภทนี้ถือว่าเป็นงานวิจัยเพื่อสังคม ซึ่งเริ่มถูกนับให้เป็นผลงานประกอบการขอตำแหน่งทางวิชาการสำหรับผู้ที่ทำงานวิจัยประเภทนี้ได้ จากการเข้าร่วมฝึกอบรม “การวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ.2556 เวลา 08.00-17.00 น. ห้องประชุมพิบูลมังสาหาร ชั้น 3 อาคารเครือข่ายประสานงานวิจัยฯ สำนักงานอธิการบดี ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนี้
1)การพัฒนาโจทย์วิจัย โจทย์วิจัยต้องมาจากพื้นที่เป็นหลัก ได้แก่ ปัญหา หรือความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นๆหรือชุมชนนั้นๆ ไม่ควรเป็นโจทย์วิจัยที่เกิดจากสิ่งที่ผู้วิจัยอยากจะทำเป็นหลัก ทั้งนี้จะเป็นสิ่งที่โชคดีมากหากประเด็นปัญหา และความต้องการของชุมชน ตรงกับสิ่งที่เราต้องการวิจัยพอดี
2)การหาทีมวิจัย สามารถจัดเวทีชาวบ้านและค้นหาชาวบ้านที่อยากทำวิจัยโดยเราสามารถสอบถามชาวบ้านและการสังเกตอาชีพที่เขาทำ บทบาทของเขาในชุมชน การแสดงความประสงค์และความคิดเห็นของเขาต่อปัญหาหรือสิ่งชุมชนต้องการประกอบกัน การได้ทีมวิจัยในท้องถิ่นที่มีความตั้งใจและมีศักยภาพจะช่วยให้งานวิจัยมีโอกาสที่สำเร๋จได้มากขึ้น
3)เขียนข้อเสนอโครงการ ทั้งนี้ข้อเสนอโครงการวิจัย”ที่ใช่” (ชัดเจน ตรงเป้า ตรงจุด เกาถูกที่คัน) นักวิจัยต้องทำการทบทวนวรรณกรรม (บทที่2) ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในแง่มุมต่างๆ ที่เราต้องการจะทำการวิจัย เพื่อให้ได้โจทย์ที่ชัดเจน ตรงเป้า และไม่ไปซ้ำซ้อนกับงานวิจัยที่ทำมาก่อน แล้วควรนำข้อเสนอโครงการวิจัยที่เขียนขึ้นนี้นี้ไปอ่านให้ชาวชุมชนฟังอีกครั้ง (ชุมชนคือเจ้าของเรื่องตัวจริง) เพื่อจะได้ทราบว่าข้อเสนอโครงการนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการหรือปัญหาของชุมชนนั้นๆแล้วหรือยัง
4)เปิดเวที่ชี้แจงโครงการวิจัย ในขั้นตอนนี้ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะทราบว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นต่อชุมชนของเขา นักวิจัยควรใช้กระดาษคลิปชาร์ตเขียนสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับโครงการวิจัย เช่น ชื่อโครงการวิจัย วัตถุประสงค์ สิ่งที่คาดว่าจะได้รับ ขั้นตอนการดำเนินงาน คณะทำงาน เป็นต้น แล้วติดกระดาษคลิปชาร์ตนั้นไว้ที่ศาลากลางหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้เก็บเป็นข้อมูลประกอบในการประชุมหมู่บ้านและสามารถปะติดปะต่อเรื่องต่างๆเกี่ยวกับโครงการวิจัยได้โดยไม่ลืมหรือคลาดเคลื่อน ในขั้นนี้ผู้วิจัยจะต้องพยายามชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจอย่างถูกต้องไม่คลาดเคลื่อนจากเป้าหมายหรือวัตถุประงค์ของโครงการวิจัยที่ต้องการทำ
5)สรรหาอาสาสมัครเพิ่มเติม อาสาสมัครนักวิจัยจากชุมชนที่ได้ในวันจัดเวทีชาวบ้านอาจเปลี่ยนใจไม่ร่วมเป็นคณะวิจัย ขณะเดียวกันชาวบ้านคนอื่นๆอาจสนใจและอยากเข้าร่วมในตอนหลัง เราสามารถเพิ่มอาสาสมัครได้ และแบ่งบทบาทหน้าที่ เช่นหน้าประชาสัมพันธ์อาจเป็น ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
6)ขั้นตอนการออกแบบในการเก็บข้อมูล ต้องทำเครื่องมือวิจัยร่วมกับชุมชน ให้ชุมชนรู้สึกว่าเครื่องมือวิจัยเป็นของชุมชนเอง มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่านักวิจัยเอาเครื่องมือไปให้ชุมชนเก็บข้อมูล ดังนั้น นักวิจัยต้อง“พาชาวบ้านคิด พาชาวบ้านคุย” เพื่อสร้างเครื่องมือร่วมกันด้วยคำถามง่ายๆตรงไปตรงมา เช่น อยากจะรู้เรื่องอะไร จะเก็บข้อมูลอย่างไร จะใช้แบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์ หรือจะต้องใช้วิธีเก็บข้อมูลอย่างไรกรณีที่เป็นประเด็นปัญหาที่อ่อนไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อกันและกันของคนในชุมชน
7)ขั้นตอนการวิเคราะห์รวบรวมข้อมูล ชุมชนจะต้องเป็นผู้เรียบเรียงข้อมูลโดยมีนักวิจัยช่วยเหลือแนะนำ โดยในขั้นตอนนี้อาจมีการเพิ่มประสิทธิภาพโดยการไปดูงาน โดยนักวจัยจะต้องวิเคราะห์เองว่าต้องดูงานเมื่อไหร่ อย่างไร ซึ่งบางครั้งการเพิ่มประสิทธิภาพอาจต้องทำตั้งแต่ชี้แจงโครงการก็ได้ กรณีที่ขั้นตอนการชี้แจงโครงการอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ชาวชุมชนได้เข้าใจกระบวนการหรือวัตถุประสงค์ของงานวิจัยได้
8)การคืนข้อมูล เป็นการนำข้อมูลที่เก็บได้นำเสนอต่อชุมชนและร่วมกันกำหนดรูปแบบของการดำเนินการวิจัย ระหว่างนักวิจัยและชาวชุมชน เช่น โครงการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน ในขั้นตอนการคืนข้อมูลนี้อาจทำให้ได้รูปแบบการเรียนการสอนแบบใดแบบหนึ่งที่คิดว่าจะมีประสิทธิภาพหรือแก้ปัญหาบางอย่างได้
9)การนำรูปแบบมาปฏฺบัติทดลอง เช่น โครงการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน ก็จะนำรูปแบบในข้อ 8 มาทดลองปฏฺบัติคือนำมาทดลองสอนนักเรียนนั่นเอง
10) สรุปประเมินผล เป็นการประเมินผลที่ได้จากการปฏฺบัติว่า สำเร็จมากน้อยเพียงใด หรือมีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นบ้าง มีอุปสรรค ปัญหาอย่างไร หลังจากที่มีการทดลองปฏิบัติ
11) เผยแพร่ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเขียนบทความวิชาการ(ซึ่งอาจเผยแพร่ได้จำกัดเฉพาะวงวิชาการ) การเขียนบทความกึ่งวิชาการ หรือบทความลงในวารสารที่ไม่ใช่วารสารวิชาการโดยตรงแต่มีกลุ่มผู้อ่านที่กว้างกว่า
12) เขียนรายงาน (แบบมีส่วนร่วม) เป็นการเขียนรายงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งแม้เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าการเขียนโดยนักวิจัยเพียงฝ่ายเดียวแต่ก็สมควรที่จะทำ เพื่อให้ได้ข้อมูลและมุมมองของชุมชนมากที่สุด
จะเห็นได้ว่างานวิจัยท้องถิ่นในแต่ละขั้นตอนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นอย่างมาก และเน้นผลของการพัฒนาไม่น้อยไปกว่าองค์ความรู้ที่จะได้จากโครงการวิจัย นักวิจัยจึงต้องมีความจริงใจต่อชุมชน มีจิตอาสา มีความอดทน และควรเข้าถึงความคิดและจิตใจของชุมชนท้องถิ่นให้มากที่สุด
สุขวิทย์ โสภาพล
29 เม.ย.56