สิงห์ ในตำนานเส้นทางการสร้างแบรนด์
คมสันต์ แสงทอง
กรณีศึกษาของบริษัทบุญรอด บริวเวอร์รี่ จำกัด น่าสนใจ เนื่องจากเป็นบริษัทที่เคยร่วงไปสู่ตำแหน่งที่ตกต่ำสุดๆ …. แล้วบริษัทกลับมาได้อย่างไร มีการกู้สถานะบริษัทกลับมาได้อย่างไร
บริษัทบุญรอด เอเชีย (บุญรอด บริวเวอร์รี่) จำกัด เป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในตลาดโลก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2476 (คศ.1933) ภายใต้ชื่อบริษัทบุญรอด บริวเวอร์รี่ จำกัด ตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเบียร์ โดยมีขวดเบียร์สีเขียว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเนื่องจากสีน้ำตาลเป็นสีที่เก็บเบียร์ได้ดีที่สุด มีสัญลักษณ์สินค้า (LoGo) เป็นหนุมานคาบศร และมีตราสินค้า (Brand) เป็นรูปสิงห์หรือตราสิงห์ จึงมีการเรียกติดปากว่า “เบียร์สิงห์”
บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ของตราสิงห์ มีการเปลี่ยนตลอดเวลา จากเดิมที่เป็นขวดกลมสีน้ำตาล ก็เปลี่ยนเป็นมีฟอยด์หุ้ม ในระยะต่อมาก็เปลี่ยนรูปร่างขวดเป็นคอยาว และล่าสุดในปีนี้เปลี่ยนเป็นมีลายนูนบนขวด
การแข่งขันของเบียร์สิงห์ ในอดีตเบียร์สิงห์เป็นสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์ ที่ขายดีที่สุดในตลาดเมืองไทย เป็นผู้นำอันดับหนึ่งมาตลอด ขายดีจนผลิตไม่ทันขาย ขายดีจนไม่ต้องมีการวางแผนการตลาดเพื่อต่อสู้กับคู่แข่ง ผลิตเท่าไหร่ก็ขายหมดและผลิตไม่ทันขาย ส่วนแบ่งการตลาดของเบียร์สิงห์ในช่วงที่เป็นผู้นำในอดีตประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายของเบียร์สิงห์กับคู่แข่งสูสีตีคู่กันมาตลอด มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆลงๆ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินในประเทศไทย เป็นปัจจัยเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้เบียร์สิงห์ต้องมีผลการดำเนินงานตกต่ำลง จากส่วนแบ่งการตลาด 85 เปอร์เซ็นต์ ร่วงตกลงมาเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ และขาดทุนมาก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2551 จึงกลับมาได้ นับเป็น 10 ปีแห่งความทุกข์ทรมาน
ในช่วงสองปีแรกนับจากภาวะวิกฤติ เบียร์สิงห์มีส่วนแบ่งการตลาดจาก 85 เปอร์เซ็นต์ในปี พ.ศ. 2540 ตกลงมาเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ในปี พ.ศ. 2541 และตกลงมาเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ในปี พ.ศ. 2542 คุณคมสันต์ แสงทอง ได้เข้ามาทำงานในบริษัทบุญรอด บริวเวอร์รี่ จำกัด ในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่ยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดกำลังจะตกต่ำสุดขีด (15 เปอร์เซ็นต์) ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ส่วนแบ่งการตลาดได้กระเตื้องขึ้นมาเป็น 25 เปอร์เซ็นต์
บริษัทคู่แข่งได้มีการใช้กลยุทธ์การขายที่เรียกว่า “กลยุทธ์เหล้าพ่วงเบียร์” ในขณะนั้น ราคาเบียร์ในตลาดปรกติโหลละ 500 บาท เบียร์ช้างลดราเหลือราคาโหลละ 400 บาท ส่วนเบียร์สิงห์ลดราคาเหลือราคาโหลละ 360 บาท
ต่อมาบริษัทคู่แข่งลดราคาเหลือโหลละ 280 บาทการที่จะลดราคาให้ได้ราคาโหลละ 280 บาท ก็คือ ต้องลดราคาลงอีกดังนั้น จึงต้องเอาเงินส่วนอื่นมาลดราคา เงินส่วนนั้นก็คือ เงินส่วนของเหล้า บริษัทคู่แข่งได้เปรียบเพราะมีผลิตภัณฑ์เหล้าด้วย ต้นทุนเหล้าขวดละ 70 บาท ราคาขายขวดละ 110 บาท ได้กำไร 40 บาทต่อขวด และได้กำไร 480 บาทต่อโหล ซึ่งซื้อเบียร์ได้เกือบโหล
กลยุทธ์ของบริษัทคู่แข่งคือ ขายเหล้า 1 ขวด เบียร์ 5 ขวด ดังนั้น การจะซื้อเหล้าได้ จะต้องซื้อเบียร์ไปด้วย ลูกค้าไม่ต้องการเบียร์ แต่เค้าต้องการเหล้า เหล้าขาวเป็นธุรกิจผูกขาด (Monopoly) กลไกคือ ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มและแอลกอฮอล์เป็นผู้รับภาระบวกราคาเหล้าที่ผู้บริโภคซื้อไป
ในช่วงนั้น เบียร์คาร์ลสเบิร์ก ของประเทศเดนมาร์ก ได้มาเปิดโรงงานในประเทศไทย ต่อมาผ่านไป 1 ปี บริษัทเบียร์คาร์ลสเบิร์กน้ำตาร่วงเลย ขาดทุนย่อยยับ เบียร์ของเค้ามูลค่าประมาณว่า 5-6 ขวดต่อ 100 บาท ท้ายที่สุดก็ต้องปิดตัวไป บริษัทบุญรอด จำกัด จึงได้ซื้อกิจการของคาร์ลสเบิร์กและลดต้นทุนไปได้มาก โดยการผลิตก็ไม่ต้องใช้ฝาขวดคาร์ลสเบิร์ก เพียงแค่ใส่ฝาขวดเบียร์สิงห์ทับลงไปแทน ไม่ต้องลงทุนอุปกรณ์เลย ลดต้นทุนไปได้มาก
อย่างไรก็ตาม เบียร์สิงห์ก็แพ้ “กลยุทธ์เหล้าพ่วงเบียร์” ของคู่แข่ง ณ ขณะนั้นราคาตลาดอยู่ที่โหลละ 500 บาท เบียร์ช้างขายโหลละ 280 บาท เบียร์สิงห์ขายโหลละ 500 บาท หากเบียร์สิงห์จะขายราคา โหลละ 280 บาทเท่าคู่แข่ง เบียร์สิงห์ขาดทุนย่อยยับแน่ๆ เนื่องจากภาษี 300 กว่าบาทต่อโหล บริษัทเบียร์สิงห์จึงต้องเตือนตัวเองเรื่อง “มรณังนุสติ”
เบียร์สิงห์จึงต้องต่อสู้ครั้งใหญ่ โดยต้องปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ พยายามที่จะสร้างมูลค่าหุ้นให้สูงเหมือนเมื่อก่อนที่มีส่วนแบ่งการตลาด 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โดยได้แจ้งตัวแทนจำหน่าย (Agent) เบียร์สิงห์ว่า ในรถของตัวแทนจำหน่ายเบียร์สิงห์ไม่ควรมีเบียร์ช้างด้วย นอกจากนี้เบียร์สิงห์ได้มีการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อกู้เงินธนาคาร ในปี พ.ศ. 2540 เบียร์สิงห์ได้ดำเนินงานด้านการตลาด ด้วยการผลิตเบียร์ตำรามาตรฐาน (Fighting Brand) ที่เรียกว่า “เบียร์ผู้ว่า” ออกมาสู่ตลาด แต่ที่ไม่มาตรฐานคือ บริษัทเบียร์สิงห์ใช้เวลาถึง 2 ปี ในการออกสินค้า Fighting Brand ตัวนี้
ส่วนการต่อสู้ในด้านกฎหมาย บริษัทเบียร์สิงห์ได้ฟ้องร้องขอความเป็นธรรม เรื่องการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่ง “กลยุทธ์เหล้าพ่วงเบียร์” โดยฟ้องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และรอมา 21 ปี บริษัทเพิ่งได้รับคำตอบในปี พ.ศ. 2560 ว่า ไม่เข้าข่าย ถ้าหากบริษัทเบียร์สิงห์รอความเป็นธรรม ณ ปัจจุบัน คงไม่มีชื่อบริษัทของเบียร์สิงห์แล้ว
ในปี พ.ศ. 2542 เบียร์คู่แข่งได้รางวัลเหรียญทองจากการไปออกงานเกษตรแฟร์ บริษัทเบียร์สิงห์จึงได้เอารางวัลของเบียร์สิงห์ที่ได้จากประเทศเยอรมัน ซึ่งเดิมมีอยู่แล้ว มาทำประชาสัมพันธ์ (Promotion) ด้วย ให้คนได้รับรู้ว่า เบียร์สิงห์ได้รางวัลระดับโลก นอกจากนี้ เบียร์สิงห์ได้มีการเปลี่ยนแนวคิดการส่งเสริมการตลาดที่จะเน้นกลุ่มผู้บริโภคที่ใหม่ สด กว่าเดิม จึงมีการเปลี่ยนนายแบบโฆษณา (Presenter) เป็นคุณคุณากรหรือคุณดู๋ พิธีกรชื่อดัง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 คุณคมสันต์ แสงทอง ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการขาย ได้มีการพัฒนากลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลยุทธ์การใช้ทีมขาย (Sales) จากเดิมตลอดเวลา 70 ปี ที่ผ่านมา บริษัทเบียร์สิงห์ไม่เคยมีพนักงานขาย (Sales) เบียร์ไม่เคยพอขาด มีแต่ขาดตลาด ผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมด มีรถของตัวแทนจำหน่าย (Agents) จอดรอตลอด เบียร์สิงห์ไม่เคยมีสต็อก ไม่เคยมีคลังสินค้า โดยเฉพาะช่วงเทศกาล เบียร์ขายตลอด
ในปี พ.ศ. 2543 ที่เบียร์สิงห์เริ่มมีทีมขาย ริเริ่มโดยคุณคมสันต์ แสงทอง ในขณะนั้น เดิมบริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่ไม่มีโครงสร้างองค์กรและไม่มีอะไรรองรับเลย เป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) บรรยากาศในการทำงานเป็นลักษณะในเวลาเช้า คนมาทำงาน และเวลาเย็นก็กลับประมาณ 4 โมงเย็น มีกลับก่อนเวลาได้ด้วย บรรยากาศมีความสุขในการทำงาน
ดังนั้น คุณคมสันต์ แสงทอง ผู้จัดการขาย ได้สร้างทีมขาย และได้ขอข้อมูลลูกค้า และได้รับเอกสารข้อมูลมาหนึ่งปึกเป็นข้อมูลรายชื่อลูกค้ากว่า 70 กว่าปี ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ทำให้เป็นปัจจุบัน (Update) เนื่องจากเดิมบริษัทขายดีมาก ไม่สนใจ update ข้อมูล
ในการสร้างทีมขาย คุณแสงทองได้มีการคัดเลือกผู้สมัครงานเพื่อสร้างทีมขาย และกำหนดค่าตอบแทน (commission) ให้ ทีมขายทีมแรกมี 8 คน มีการอบรมทีมขายเป็นพิเศษ โดยอบรมฝึกทักษะการขาย และการสร้างวัฒนธรรมร่วมกัน คือ แม้จะมีการเผชิญ “ความลำบาก” เราจะมีจิตวิญญาณร่วมกัน
เดิมเบียร์สิงห์มีการขายสินค้าให้ตัวแทนจำหน่าย (Agents) แต่ยอดขายลดลงมากจากเดิมส่วนแบ่งการตลาด 85 เปอร์เซ็นต์เหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ในขณะนั้น ซึ่งยอดขายดังกล่าวไม่พอหล่อเลี้ยง Agents คุณแสงทองจึงได้ทำการลดจำนวน Agents 190 รายในปี พ.ศ. 2546 นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคเกี่ยวกับภาครัฐห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กำหนด ซึ่งข้อกำหนดจากรัฐบาลเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
ในปี พ.ศ. 2546 บริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่ ครบกำหนด 70 ปี ในตลาดเบียร์ขณะนั้น เบียร์ช้างขายถูก เบียร์สิงห์ขายแพงกว่า เบียร์สิงห์จึงได้ใช้กลยุทธ์การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นเบียร์สิงห์แดง คือ “สิงห์ 70 Local” เพื่อให้ยื่นภาษีเท่ากับเบียร์ช้าง แต่ขายได้ 7 วัน กรมสรรพสามิตแจ้งให้ยื่นภาษีเท่ากับเบียร์สิงห์ เพราะว่ากรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีตามตราสินค้า ดังนั้น จึงขายได้น้อย ปีนั้นส่วนแบ่งการตลาดเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ และขายได้ไม่ถึงปี CEO ออกมาพูด “ยอมรับว่า แพ้”
ต่อมา บริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่ได้ใช้ข้อมูลวิจัย จากเดิมเคยคิดว่า บริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่เป็นศูนย์กลางจักรวาล ก็เปลี่ยนมาเริ่มใช้ข้อมูลวิจัย เพื่อพิจารณาดูว่าบริษัททำอะไรผิดพลาด บริษัทยังไม่ได้ทำอะไร ที่ควรจะทำ หลังจากนั้น บริษัทเริ่มใช้กลยุทธ์การตลาดแบบที่ไม่เคยใช้มาก่อน เช่น การชิงโชค การโฆษณา ซึ่งการใช้นายแบบโฆษณา (Presenters) กฎหมายห้ามใช้ Presenter อายุต่ำกว่า 35 ปี นายแบบโฆษณาคือ คุณดู๋ คุณเคน และนางแบบคือ คุณเมทินี “ลูกเกด” คุณเมทินีเป็นนางแบบในแคมเปญ Sexy Marketing ปฏิทินลีโอ เป็นปฏิทินยอดฮิต
ข้อมูลวิจัยเปิดเผยข้อมูลสำคัญประการหนึ่งคือ ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในตลาดเบียร์ คือ ผู้ค้าส่งเบียร์ (ซาปั๊ว) ซึ่งบริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่ไม่เคยเข้าหาผู้ค้าส่งเลย ดังนั้น คุณคมสันต์ จึงจัดให้บริษัทได้เข้าหาผู้ค้าส่ง เช่น การจัดงานสานสัมพันธ์ผู้บริหารบริษัทกับผู้ค้าส่งทั่วประเทศ เริ่มแรกที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งของโรงงานผลิตเบียร์ช้าง
บริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่ยังได้มีการส่งจดหมายและโทรสาร แจ้งรายการส่งเสริมการขาย โดยเป็นการส่งข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อมาก็พัฒนาตามเทคโนโลยีเป็นการส่งด้วยจดหมายอิเลคทรอนิคส์ (email) แทน และมีการส่งตัวแทนขาย (Sales) ไปซ้ำอีกทุก 6 เดือน
กลยุทธ์การตลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การสร้าง “สิงห์พลังใหม่ (Young Blood Singha)” เป็นนักธุรกิจรุ่นลูก เลือดเนื้อเชื้อไขของผู้ประกอบการ เช่น วิศวะจุฬาฯ วิศวะบางมด ส่งเสริมให้กลุ่มสิงห์พลังใหม่ขายเบียร์
การประชุมตัวแทนประจำปี โดยมีการจัดงาน ประชุมตัวแทนประจำปี เริ่มที่เชียงราย เทคนิคในการประชุม คือ คำกล่าวที่ว่า “ศักดิ์ศรีสำคัญกว่าเงิน” มีการจัดห้องประชุมให้ผู้ที่นั่งหน้า คือ คนที่มีส่วนแบ่งการตลาดต่ำสุด ซึ่งจะเป็นกลุ่มคนที่นั่งติดกับผู้บริหารของบริษัท อันนี้เพื่อเทคนิคการสร้างความกดดันเล็กน้อยให้กับผู้ที่มีส่วนแบ่งการตลาดต่ำ ส่วนปีต่อมา พ.ศ. 2548 จัดที่จังหวัดภูเก็ต คนที่มีส่วนแบ่งการตลาดต่ำในปีที่แล้ว จะพยายามสร้างยอดขายเพื่อจะได้ไม่ต้องแถวหน้าซึ่งใกล้กับผู้บริหารบริษัท
ในการประชุมในปี พ.ศ. 2548 เป็นปีที่น่าจดจำ เนื่องจากปลายปี พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์สึนามิ หลายๆ คนในบริษัทบอกว่า จะยืนยันจัดงานดีหรือ เพราะเกิดเหตุสึนามิ แต่ในที่สุดผู้บริหารบริษัท (CEO) ก็ยืนยันจัดงานไป เนื่องจากค่าจัดงาน ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรม และค่าใช้จ่ายๆ ต่างๆ ได้มีการจ่ายล่วงหน้าไปหมดแล้ว และจัดงานในแนวทางเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภูเก็ต โดยมีการกระจายคนไปรับประทานอาหารหลายๆ ร้านในภูเก็ต เนื่องจากช่วงนั้น ไม่มีคนไปเที่ยวภูเก็ตเลย จึงนับได้ว่า เป็นเรื่องดีที่บริษัทเบียร์สิงห์ได้มีส่วนไปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภูเก็ตในขณะนั้นบ้าง บริษัทเบียร์สิงห์ได้มีการจัดงานสานสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ให้เป็นงานขอบคุณ และเป็นงานของครอบครัวเดียวกัน “We are family” ในปี พ.ศ. 2548-2529 ยอดขายก็ดีขึ้น
การต่อสู้ด้านการตลาดอีกเรื่องหนึ่ง การฝากเบียร์สิงห์ในตู้ร้านค้าปลีก โดยเบียร์สิงห์ขอให้มีเบียร์สิงห์ติดตู้แช่ร้านค้าปลีกและให้เงินร้านค้าปลีกเดือนละ 2,000 บาท นับว่า เบียร์สิงห์ให้ผลประโยชน์ทันทีและงานนี้ เสมือนบริษัทเบียร์สิงห์มีตู้แช่เอง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการตลาดที่เป็นกิจกรรมตรงสู่ผู้บริโภค เช่น มีส่วนร่วมในกิจกรรมงานบวช งานเลี้ยงรุ่น งานศพ เป็นต้น
ผลจากการทำแผนการตลาดและการดำเนินงานการตลาด ในปี พ.ศ. 2548 เริ่มผลการดำเนินงานดีขึ้น โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มจาก 25 เปอร์เซ็นต์ 30 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2549 บริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่ประกาศจะขายให้ได้ส่วนแบ่งการตลาด 47 เปอร์เซ็นต์ และจะกลับมาเป็นที่ 1 อีกครั้ง และบริษัทก็ได้ประกาศชัยชนะจริงๆ ในช่วงท้ายปี พ.ศ. 2549
จุดพลิกผันของบริษัทคือ การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ เนื่องจากกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น บริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่จึงเข้าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศสิงคโปร์
การแข่งขันปัจจุบัน เบียร์ช้างขายตลาดล่างอย่างเดียว แต่บริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่ขายตลาดเดิมคือตลาดบน (เบียร์สิงห์) และสวนกลับตลาดด้วยโดยการขายตลาดกลางด้วย (เบียร์ Leo) นอกจากนี้ บริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่ได้มีการเปลี่ยนทีมบริหารยุคคุณพ่อเป็นทีมใหม่คือ รุ่นลูก บริษัทในยุคใหม่มีความพร้อมทั้งคน เครื่องมือ องค์กร และการตัดสินใจ การจัดการสมัยใหม่ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดในปี พ.ศ. 2551 เพิ่มเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ และในปี พ.ศ. 2558 เพิ่มเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ และจากที่บริษัทไม่เคยทำการตลาดในอดีต บริษัทมีการใช้งบการตลาดหมื่นกว่าล้านบาท
ในปี พ.ศ. 2559 เบียร์ช้างได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยการเปลี่ยนขวดจากสีน้ำตาล (ซึ่งเก็บสภาพเบียร์ได้ดีกว่าสีอื่น) เป็นขวดสีเขียว ซึ่งการเปลี่ยนสีขวดเบียร์นี้ เป็นความเสี่ยง ถ้าไม่ดีก็ตายเลย แต่ถ้าสำเร็จก็ดีไป ในกรณีนี้ เบียร์ช้างประสบผลสำเร็จ โดยเกิดเหตุ “โดมรินเบียร์ช้าง” ทำให้ยอดขายเบียร์ช้างพุ่งกระฉูด และทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของเบียร์สิงห์ลดลงจาก 73 เปอร์เซ็นต์ เป็น 59 เปอร์เซ็นต์ แต่บริษัทบุญรอดใช้เวลาไม่ถึงปีก็กลับมาเป็นผู้นำได้เหมือนเดิม ต่อมาบริษัทบุญรอด บริวเวอร์รี่ จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทบุญรอด เอเชีย จำกัด เป็นบริษัทระดับโลกที่ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายในตลาดโลก