แนวปฏิบัติที่ดีในการปรับปรุงหลักสูตร (26 มกราคม 2560)

แนวปฏิบัติที่ดีในการปรับปรุงหลักสูตร
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560

1. มีการวางแผนการทำงาน เป้าหมายในการทำงาน และมอบ
หมายภาระงานให้อาจารย์ช่วยกันทำ
2. จัดให้มีทีมวิจัยหลักสูตร 1 ชุด เพื่อศึกษาความต้องการของผู้
มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ใช้บัณฑิต บัณฑิต สภาวิชาชีพ
3. จัดทีมเขียน มคอ. 2 โดยแบ่งเป็นส่วนๆ และมอบหมายให้
อาจารย์รับผิดชอบเขียน
4. ประชุมติดตามงานอย่างสม่ำเสมอ
5. เมื่อได้ผลวิจัยหลักสูตรแล้ว จะใช้ผลวิจัยเป็นกรอบในการ
ปรับปรุงหลักสูตร โดยพิจารณาปัจจัยภายนอกร่วมด้วย เช่น
นโยบายการพัฒนาประเทศ สภาวะเศรษฐกิจ สภาพสังคม
ความคิดเห็นของอาจารย์พิเศษ นำผลวิจัยหลักสูตรใส่ใน
ปรัชญาของและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร รวมถึงหลักการ
และเหตุผลในการปรับปรุงหลักสูตร
6. นำกรอบในการปรับปรุงหลักสูตรมากำหนดรายวิชา และจัด
ทำคำอธิบายรายวิชา
7. เมื่อคำอธิบายได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมหลักสูตร จึง
จัดทำ มคอ.3 โดยแบ่งรายวิชาให้อาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ
เฉพาะดำเนินการ
8. ทาบทามผู้ทรงจากสภาวิชาชีพ/ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพ เพื่อ
พิจารณา มคอ. 2-3
9. ปรับ มคอ. 2-3 ตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ และเสนอ
หลักสูตรตามกระบวนการของมหาวิทยาลัย
10. เมื่อหลักสูตรฯ ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการกลั่นกรองฯ
แล้ว ต้องติดตามความคืบหน้ากับงานพัฒนาหลักสูตร สกอ.
และสภาวิชาชีพฯ (ถ้ามี) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การปรับปรุง
หลักสูตรดำเนินการไปอย่างราบรื่น ตามเป้าหมายที่กำหนด
11. คณะกรรมการฯ พิจารณาหลักสูตรแต่ละคณะ มีแนวทางในการ
พิจารณาต่างกัน ดังนี้
11.1 คณะกรรมการบริหารวิชาการ ม.อบ. เน้นพิจารณาความ
เหมาะสมของชื่อวิชาและรายละเอียดรายวิชา โดย
พิจารณาจากหลักการและเหตุผลในการปรับปรุง
หลักสูตร
11.2 คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เน้นพิจารณาผลงานของ
อาจารย์ประจำหลักสูตรต้องครบถ้วนและมีคุณวุฒิ
สอดคล้องกับหลักสูตร

ปัจจัยความสำเร็จของการปรับปรุงหลักสูตร
1. มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานเป็นทีม
2. มีการวางแผนและมอบหมายงาน
3. มีการติดตามงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด
4. มีผลการวิจัยหลักสูตร ความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย/ทิศทาง
การพัฒนาประเทศ เพื่อรองรับเป็นหลักการและเหตุผลในการ
ปรับปรุงหลักสูตร
5.จุดเด่นในหลักสูตรปรับปรุง และมีผลการวิจัยหลักสูตรที่รองรับ
และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างไร
6. ผู้นำเสนอหลักสูตรต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารวิชาการ
ม.อบ. และที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ต้องมีความแม่นยำ
ในข้อมูลของหลักสูตรปรับปรุง

 

นางสาวบงกช คูณผล
นักวิชาการศึกษา

Categories: วิชาการ | Leave a comment

อบรม Business and Technology Trends

 


Business and Technology Trend (How technology is changing money and business) หัวข้อการอบรมในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของคอมพิวเตอร์ที่มีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ในยุค 4.0 ซึ่งหัวข้อในการบรรยายจะประกอบไปด้วย

  • IoT
  • Machine Learning
  • Blockchain
  • Cloud Computing

ปัจจุบันคอมพิวเตอร์กำลังจะเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตในทุกรูปแบบของชีวิตคนเรา ซึ่งอาจจะมีหลายๆ อาชีพที่จะถูกทดแทนด้วยคอมพิวเตอร์ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ 10 อาชีพ ที่จะถูกทดแทนด้วย Big Data และ Machine learning ดังนี้ (ที่มาของข้อมูลจาก: https://www.it24hrs.com/2017/carieer-big-data-machine-learning/)

1. ด้านสุขภาพและการแพทย์ (Health care)

งานในบางส่วนของอาชีพแพทย์ สามารถทำได้โดยคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ได้ ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ ซึ่งเป็นงานเฉพาะ และมีความแม่นยำสูงกว่าที่มนุษย์จะทำได้, Watson โดย IBM ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถตรวจสอบและค้นหามะเร็งในปอดด้วยการใช้การสแกนด้วย MRI ซึ่งมีความแม่นยำกว่าทำด้วยมนุษย์

2. ด้านประกันภัย (Insurance)

งานของตัวแทนธุรกิจประกันภัย (Brokers) สามารถที่จะถูกแทนด้วยระบบคอมพิวเตอร์โดยการใช้ Big Data และ Machine learning ซึ่งงานในธุรกิจประกันภัยจะมีขั้นตอนที่ชัดเจนตามกฎระเบียบและกฎหมาย จึงทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานแทนได้

3. ด้านสถาปัตย์ (Architects)

ปัจจุบันเราสามารถออกแบบบ้านของเราได้ด้วยตัวเองแล้วด้วยระบบคอมพิวเตอร์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบโครงการขนาดเล็ก ซึ่งนับวันการพัฒนา และความซับซ้อนของ Big Data และ Machine learning ยิ่งจะทำให้ความต้องการการช่วยเหลือจากสถาปนิกลดลงทุกวัน

4. ผู้สื่อข่าว (Journalists)

แนวโน้มในอนาคตอันใกล้ที่จะมี Machine learning ที่สามารถรวบรวมข่าวสาร และทำการวิเคราะห์ และผลิตเนื้อหาข่าวได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำกว่าผู้สื่อข่าวที่เป็นมนุษย์ ซึ่งในช่วงเวลา 1-2 ปี ที่ผ่านมาหากเราอ่านข่าว (ภาษาอังกฤษ) เกี่ยวกับด้านการเงิน (Financial report) มีความเป็นไปได้ว่าเรากำลังอ่านข่าวที่ถูกผลิตโดย “Machine” หรือซอฟท์แวร์เขียนข่าวอัตโนมัติlearning มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างชัดเจน

5. ด้านอุตสาหกรรมการเงิน (Financial industry)

Machine learning สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงินและเตรียมข้อมูลบัญชี เช่น การคำนวณการคืนภาษีได้โดยไม่ต้องใช้นักบัญชีผู้เชี่ยวชาญแล้ว ซึ่งในปัจจุบันในธุรกิจธนาคาร ในส่วนการให้บริการลูกค้าจะเห็นได้ชัดว่า ATM และ Mobile banking ได้เข้ามาแทนที่งานหลายส่วนของมนุษย์ และอีกไม่นานระบบอัตโนมัติจะเริ่มเข้าแทนที่เจ้าหน้าที่ในระดับที่สูงขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่ปล่อยเงินกู้ (Loan officers) เป็นต้น

6. ครูและอาจารย์ (Teachers)

อาชีพครูกำลังจะถูกเปลี่ยนนิยามไปอย่างมากด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ทำให้การเรียนการสอนสามารถที่จะสนับสนุนรูปแบบการศึกษาเฉพาะทางและการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียนได้มากขึ้น โดยผู้เรียนสามารถที่จะหาข้อมูลด้วย Search engine ที่ชาญฉลาด ซึ่งสามรถส่งความรู้ให้ผู้เรียนได้อย่างรวดเร็ว และมีความรู้บรรจุอยู่ในระบบมากกว่าอยู่ในสมองมนุษย์ จึงทำให้การศึกษาด้วยตนเองจะมีบทบาทมากในอนาคต และจะได้รับการยอมรับอย่างมากให้เป็นมาตรฐานในระบบการศึกษาในอนาคตอันใกล้

7. ด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources)

การสรรหาและการจ้างบุคลากร (Headhunting and hiring) ได้รับภัยคุกคามแล้วจากเทคโนโลยี Data mining ที่สามารถบริหารจัดการข้อมูลประวัติผู้สมัคร (resumes) เพื่อทำการวิเคราะห์หาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์ที่สุดที่องค์กรต้องการได้โดยไม่ต้องใช้มนุษย์เป็นผู้ค้นหาและวิเคราะห์เอง

8. การตลาดและการโฆษณา (Marketing and Advertising)

การตลาดในปัจจุบันที่มีข้อมูลมหาศาล และเปลี่ยนแปลงทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด ที่ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจเหนือผู้ผลิตและผู้ให้บริการแล้วในวันนี้ ซึ่งเทคโนโลยี Big Data และ Machine learning สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อติดตามตรวจสอบพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทุกวันแบบ realtime จนทำให้อาชีพนักการตลาดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดถูกท้าทายให้มีบทบาทลดลงเรื่อยๆ

9. ทนายความ (Lawyers)

อาชีพทนายความเริ่มถูกภัยคุกคามจากเทคโนโลยีนับตั้งแต่ระบบ Watsom-style machine learning สามารถแยกแยะและวิเคราะห์คดีต่างๆ ที่มีในอดีตทั้งหมด รวมไปถึงบทสรุป และข้อวิเคราะห์ต่างๆ นำมาไว้เป็นฐานข้อมูลความรู้ในระบบ Machine learning จนทำให้สามารถมองเห็นถึงผลการตัดสินคดีมาตรฐาน ซึ่งสามารถใส่ Input ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของคดี และรู้ผลโดยการวิเคราะห์จากระบบ Machine learning จนสามารถพยากรณ์ผลการตัดสินของคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีข้อแนะนำต่างๆ จากข้อมูลในอดีตที่ถูกวิเคราะห์ และสังเคราะห์อย่างเป็นระบบที่สมบูรณ์

10. การบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement)

“Predictive policing” เป็นเรื่องที่กำลังได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดกันอย่างมากในประเทศตะวันตก เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งถือว่าการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดต่อประชาชน สามารถที่จะทำให้ลดลงได้ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Machine learning มาช่วยในการทำงานในกระบวนการยุติธรรมของตำรวจได้

(ที่มาของข้อมูลจาก: https://www.it24hrs.com/2017/carieer-big-data-machine-learning/)

นอกจากนี้มีหลายๆ อาชีพที่กำลังอาจจะถูกทดแทนด้วยคอมพิวเตอร์ และ AI ไม่ว่าจะเป็นพวกอาชีพนักเขียนโปรแกรมโดย Google และ Microsoft ได้มีการนำเอา Computer AI มาทำหน้าที่เขียนโปรแกรมแทนคนแล้วในปัจจุบัน (ในบางส่วน)

IoT: Internet of Things นั้นถูกคิดขึ้นโดย Kevin Ashton ในปี 1999 ซึ่งเขาเริ่มต้นโครงการ  Auto-ID Center ที่มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT จากเทคโนโลยี RFID ที่จะทำให้เป็นมาตรฐานระดับโลกสำหรับ RFID Sensors ต่างๆที่จะเชื่อมต่อกันได้

Machine Learning: เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยอาศัยหลักการและเทคนิคที่มีพื้นฐานอยู่บนคณิตศาสตร์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำได้เอง

Blockchain: ระบบโครงข่ายธุรกรรมทางการเงินที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการยืนยันการมีตัวตนของบุคคลในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยเปลี่ยนจากระบบการยืนยันการมีตัวตนจากส่วนกลางมาเป็นการกระจายการยืนยันตัวตนแบบกระจายตัว

Cloud Computing: ระบบขนาดใหญ่ที่ผู้ใช้งานอาจจะไม่จำต้องทราบว่า Server หรือแม่ข่ายที่ให้บริการต่าง ๆ ถูกตั้งอยู่ที่ไหน และ Clound Computing จะต้อง มีคุณสมบัติที่สำคัญอยู่ 5 ด้านคือ  สามารถเรียกใช้งานได้เองตามต้องการ (On Demand Self Service) สามารถเรียกใช้งานจากที่ไหนหรืออุปกรณ์ใดๆก็ได้  (Broad network access) ใช้ทรัพยากรร่วมกันกับระบบอื่นๆ  (Reseource Polling) ระบบมีความยืดหยุ่นสูงที่จะรองรับผู้ใช้จำนวนมากได้ (Elasticity) และสามารถวัดการใช้งานได้ (Measured Service) Cloud Computing เป็นรูปแบบการดำเนินการทางธุรกิจ (Business Model) โดยอาจใช้เทคโนโลยีอย่าง ใน Virtualization ในการติดตั้ง ซึ่ง Virtualization คือเทคโนโลยีที่ซ่อนระบบฮาร์ดแวร์ไว้จากระบบซอฟต์แวร์ ผู้ใช้สามารถที่จะเรียกใช้ระบบปฎิบัติการหรือซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรง และสามารถที่จะใช้ระบบปฎิบัติการที่หลากหลายจากฮาร์ดแวร์ชุดเดียวกัน

 

Categories: ทั่วไป, อบรม-สัมมนา | Leave a comment

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

นายสุริยะ ธีรวัฒนสาร นายกสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากร วิทยากรจากสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากร ได้บรรยายในหัวข้อการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่นักภาษีอากรระดับปฏิบัติการ (Tax Junior) ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มได้ดังนี้
1 สิ่งที่สำคัญที่สุดของระบบภาษีมูลค่าเพิ่มคือการให้ความสำคัญกับระบบเอกสาร ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระมัดระวังในการจัดทำใบกำกับภาษีให้สอดคล้องกับมาตรา 86/4 การจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบ และกรอกแบบ ภพ.30 ให้ถูกต้อง และยื่นรายงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
2 หากระยะเวลาในการยื่นแบบวันสุดท้ายไปตรงกับวันหยุดทำการ ให้นับวันทำการถัดไปเป็นวันสุดท้ายในการยื่นแบบแสดงรายการแทน
3 หากผู้ประกอบการได้รับใบกำกับภาษีย้อนหลังวันที่ที่ผ่านมาแล้ว ผู้ประกอบการการสามารถนำมาใช้ในการยื่นแบบได้ไม่เกิน 6 เดือนนับจากเดือนถัดจากเดือนที่ต้องยื่นแบบของใบกำกับภาษีใบนั้นๆ เช่น หากผู้ประกอบการได้รับใบกำกับภาษีซึ่งลงวันที่ในเดือนมกราคม 2560 ผู้ประกอบการสามารถนำใบกำกับภาษีใบนั้นมายื่นแบบแสดงรายการได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2560
4 การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น การให้ของแถม การให้ส่วนลดการค้า การแจก เป็นต้น ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 40 อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่อาจจะต้องชำระเบี้ยปรับ และหรือเงินเพิ่มได้
5 การออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องตัดสินค้าคงเหลือในทะเบียนคุมสินค้าคงเหลืออีกแล้ว เพราะการออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหรือรับคืนสินค้าคงเหลือ เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการคิดราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มหรือลดลงเท่านั้น

Categories: วิชาการ | Tags: | Leave a comment

สถาบันอุดมศึกษาไทยกับแนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการอุดมศึกษา ในยุคไทยแลนด์ 4.0

ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาไทยมีหลักสูตรรวมกันกว่า 10,000 หลักสูตร เนื่องจากมีสถาบันอุดมศึกษาไทยที่หลากหลายและมีจำนวนรวมกว่า 170 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยเอกชน วิทยาลัย และสถาบันฯ จากการดำเนินการของระบบการประกันคุณภาพทางการศึกษาและระบบมาตรฐานการอุดมศึกษา ทำให้พบว่าหลักสูตรจำนวนไม่น้อยยังไม่มีคุณภาพเพียงพอและต้องมีการปิดหลักสูตรลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคแห่งการแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วของกระแสโลก ซึ่งรัฐบาลไทยได้สร้างโมเดลการพัฒนาเศราฐกิจเพื่อให้ทันต่อยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “ไทยแลนด์ 4.0” นั่นคือพยายามสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือมีลักษณะของ Valued- base Economy แทนเศรษฐกิจแบบเดิมที่เน้นการผลิตในอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เหมือนดังเช่นหลายทศวรรษที่ผ่านมาของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วของกระแสโลก และนโยบายเกี่ยวกับโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ“ไทยแลนด์ 4.0” สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องมีความตระหนักและพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆในการดำเนินของสถาบันอุดมศึกษาอีกมากเพื่อให้ทันต่อยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับสังคมว่าสถาบันอุดมศึกษามีมาตรฐานและศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพทั้งด้านคุณธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การสื่อสารและการใช้สารสนเทศที่เหมาะสม ตลอดจนมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงาน สภาพเศรษฐกิจและสังคม และทิศทางการพัฒนาของประเทศในยุคปัจจุบัน โดย คุณนุชนภา รื่นอบเชย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและคุณภาพอุดมศึกษาได้เสนอว่า ประเด็นการพัฒนาที่สำคัญที่สถาบันอุดมศึกษาต้องเร่งพัฒนา ได้แก่ 1) ปรับยุทธศาสตร์ (Reprofile) 2) การจัดการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์( Outcome Based Education) 3) การวางแผนสู่อนาคตEducation 2030
1.การปรับยุทธศาสตร์ (Reprofile)
การปรับยุทธศาสตร์ คือ การมีคณะ หลักสูตร ของสถาบันอุดมศึกษาให้เหมาะสมกับปริมาณและความต้องการศึกษาต่อของกลุ่มเป้าหมาย โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องมีการทบทวน ปรับปรุง ปรับลด หรือเปิดหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงประชากร (คนเกิดน้อยลง ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น) ตลอดจนปรับหลักสูตรให้มีความสอดคล้องหรือเอื้อต่อการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐ และความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ต้องพยายามแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งนี้การบริหารจัดการต่างๆต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งและคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการบริหาร
สถาบันอุดมศึกษาต้องสามารถสร้างอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตนเองตามศักยภาพและความเชี่ยวชาญซึ่งแตกต่างกันไป เช่น เชี่ยวชาญหรือโดดเด่นด้านการผลิตครู การผลิตแพทย์และพยาบาล การผลิตบุคคลด้านเทคโนโลยีและการจัดการ หรือการผลิตบุคลากรด้านการเกษตร เป็นต้น อันจะนำไปสู่ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและการฝึกอบรมต่างๆให้ผู้เรียนมีคุณภาพและสมรรถนะสูงอย่างแท้จริง นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษาต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากภาคส่วนต่างๆและตลอดจนให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม
2.การจัดการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์(Outcome Based Education: OBE)
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวนักศึกษาหลังจากได้ใช้เวลาเรียนในสถาบันอุดมศึกษา 4- 6ปี คือสิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพและคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตร หากหลักสูตรผลิตบัณฑิตออกมาโดยไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับคุณลักษณะหรือสมรรถนะ จะนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นของผู้ใช้บัณฑิตหรือตลาดแรงงาน ผลดังกล่าวจะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นของผู้สมัครเข้ามาเรียน ทำให้หลักสูตรไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ในที่สุด ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผลลัพธ์ (Outcome Based Education: OBE) จึงต้องพยายามสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับความรู้ ทักษะ และผลสัมฤทธิ์ ที่ผู้เรียนจะได้รับหลังเข้ารับการศึกษาที่เห็นเป็นรูปธรรม วัดได้หรือเกิดเชื่อมั่นว่าความรู้ ทักษะนั้นเกิดขึ้นในตัวผู้เรียนจริงๆ ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม เช่น การจัดการเรียนสอนที่เน้นกิจกรรม (Activity- based Learning) หรือการจัดการรู้แบบให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student- Centered Learning) เป็นต้น โดยการจัดการเรียนการสอนแบบ OBE ต้องจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนคือ มีการกำหนดมาตรฐานผลลัพธ์การเรียนรู้ โดยอาจใช้เทคนิคการออกแบบย้อนกลับ (Backward) จากผลลัพธ์ที่ต้องการสู่การออกแบบการเรียนการสอน ทั้งนี้การกำหนดมาตรฐานผลลัพธ์ต้องมีลักษณะของการคาดหวังผลลัพธ์ระดับสูงจากการจัดเรียนการสอนนั้น
3. การวางแผนการจัดการศึกษาโดยมองสู่อนาคต (Education 2030)
แนวคิดของการจัดการศึกษาโดยมองสู่อนาคต คือ การสร้างความเชื่อมั่นว่าการจัดการศึกษานั้นจะมีคุณภาพและมาตรฐานทัดเทียมกัน และส่งเสริมให้ทุกคนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งการจัดการศึกษาที่นำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ต้องใช้หลัก 3 ประการคือ คือ กรอบคุณวุฒิต้องแสดงให้เห็นผลลัพธ์การเรียนรู้และทักษะอย่างชัดเจน การประกันคุณภาพทางการศึกษาที่เพิ่มความมั่นใจในการยอมรับ และการรับรองคุณวุฒิที่โปร่งใส โดยเฉพาะในด้านการประกันคุณภาพฯ จะต้องมีการขึ้นทะเบียน และ/หรือการรับรองวิทยฐานะของสถาบันฯ การมีระบบประเมินตนเองและการประเมินจากภายนอกของสถาบันฯ การรับรองคุณวุฒิที่มีความหลากหลาย ส่วนด้านกรอบคุณวุฒิจะต้องสนับสนุนให้มีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิ การกำหนดระดับคุณวุฒิและผลลัพธ์การเรียนรู้ การขึ้นทะเบียนคุณวุฒิและ/หรือการมีองค์กรกำกับดูแลโดยเฉพาะ เป็นต้น

สุขวิทย์ โสภาพล
19-11-59

Categories: อบรม-สัมมนา | Tags: , , , | Leave a comment

หลักการควบคุมภายใน โรงแรม รีสอร์ท

การควบคุมภายในมีองค์ประกอบของการควบคุมภายในที่มีความสัมพันธ์กัน 5 ด้าน คือ

  1. สภาพแวดล้อมของการควบคุมภายใน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด นอกจากจะหมายถึงโครงสร้างขององค์กร ปรัชญาและรูปแบบการทำงาน การมอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ยังเป็นความหมายรวมถึง จิตสำนึกและคุณภาพของคน จากกรณีการทุจริตเงินค่าทางด่วน หากบุคลกรที่ปฏิบัติงานทุกระดับชั้นมีจิตสำนึกถึงความสูญเสียที่รัฐจะได้รับจากการยักยอกเงินไปใช้ส่วนตัว ก็จะไม่เกิดการทุจริตขึ้น ในทุกองค์กร บุคลากรถือเป็นหัวใจสำคัญ ในการบริหารงานด้านบุคคลซึ่งนอกจากจะมีความสามารถในการทำงานที่มีประสิทธิภาพแล้วยังต้องสนับสนุนส่งเสริมให้มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ต่อตนเองอีกด้วย
  2. การประเมินความเสี่ยง เป็นการประเมินเพื่อให้ทราบว่าองค์กรมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงไรเพื่อนำมากำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม โดยมีขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงตั้งแต่การระบุปัจจัยความเสี่ยงโดยวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหลังจากได้ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้วก็จะมาบริหารความเสี่ยงโดยการจัดการหาวิธีการทำให้ความเสี่ยงลดลงน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย
  3. กิจกรรมการควบคุม ซึ่งฝ่ายบริหารต้องนำนโยบายและมาตรการระเบียบปฏิบัติงานมาใช้ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ปฏิบัติงานได้ปฏิบัติตามและผู้บริหารสามารถควบคุมได้ ทั้งนี้จะก่อให้เกิดการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้วางเป้าหมายไว้ ซึ่งกิจกรรมการควบคุมภายใน ก็ควรเริ่มตั้งแต่การแบ่งแยกหน้าที่งานอย่างเป็นเอกเทศและสามารถตรวจสอบได้โดยผู้บริหาร แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบมาประมวลผล ซึ่งก็ควรกำหนดดัชนีวัดผลการดำเนินงานไว้เพื่อเป็นเกณฑ์ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน
  4. ข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารในองค์กร ที่ควรจะเป็นข้อมูลที่มาจากทั้งแหล่งภายในและแหล่งภายนอก ให้การสื่อสารทั่วถึงกันทุกฝ่ายในองค์กร โดยข้อมูลจะต้องถูกต้อง ทันเวลา เพื่อการปฏิบัติงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  5.   การติดตามและประเมินผล ในทางปฏิบัติจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน การติดตามจะกระทำในขณะอยู่ระหว่างดำเนินงาน ซึ่งผู้บริหารควรติดตามว่าได้มีการปฏิบัติงานตามคำสั่งที่ได้ให้นโยบายไปอย่างเคร่งครัด และถูกต้องหรือไม่ ในส่วนของการประเมินผลจะกระทำในขณะที่มาตรการการควบคุมได้มีการดำเนินงานไปแล้ว
Categories: อบรม-สัมมนา | Leave a comment

สูตรสำเร็จ ระบบบัญชีและการควบคุมภายในโรงแรม

วิทยากรอาจารย์ลาวัลย์ เบ๊ ได้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ หัวข้อ สูตรสำเร็จ ระบบบัญชีและการควบคุมภายในโรงแรม ได้ดังนี้
การควบคุมภายใน หมายถึง กระบวนการที่กำหนดให้มีขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินงาน และบรรลุวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่
1.ประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการดำเนินงาน
2.ความเชื่อถือได้ของรายงานทางการเงิน
3.การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
การควบคุมภายในจะเน้นวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์ใดมากกว่ากัน เข่น
1.การระวังป้องกัน การทุจริต การรั่วไหล
2.การบริหาร ทรัพยากร
3.ความถูกต้องของรายงาน
4.การบรรลุวัตถุประสงค์ทางการบริหาร
แนวทางที่จะทำให้การควบคุมภายใน ประสบความสำเร็จ คือ
1.การควบคุมภายใน เป็นส่วนประะกอบที่แทรกหรือแฝงอยู่กับการปฎิบัติงาน
2.การควบคุมภายใน เกิดขึ้นได้โดยบุคคลของหน่วยงาน
ตัวอย่างการควบคุมภายในของสินทรัพย์ถาวร ความเสี่ยง ได้แก่ สั่งซื้อโดยพลการ การควบคุมคือ การกำหนดนโยบายผ่านการขอซื้ออนุมัติและสั่งซื้อตามระเบียบ ความเสี่ยงขายทรัพย์สินโดยพลการ การควบคุมคือ กำหนดนโยบายการขายทรัพย์สิน ความเสี่ยงบันทึกสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่าย ความเสี่ยงใช้อัตราค่าเสื่อมราคาไม่เหมาสะและความเสี่ยงที่ไม่ได้แยกงานระบบออกจากอาคาร การควบคุมคือ สอบทานโดย Comptroller เป็นต้น

Categories: อบรม-สัมมนา | Tags: | Leave a comment

จับประเด็นสำคัญในรายงานของผู้สอบบัญชี ตามมาตรฐานใหม่

คุณชูพงษ์ สุรชุติกาล และ ผศ.ดร.ดิชพงศ์ พงศ์ภัทรชัย กรรมการสภาวิชาชีพฯด้านการสอบบัญชี ได้บรรยายเรื่องประเด็นสำคัญในรายงานของผู้สอบบัญชี ตามมาตรฐานใหม่ โดยมีสาระสำคัญที่รวบรวมได้และอยากจะเผยแพร่ต่อไปเป็นความรู้ให้กับทุกคนดังต่อไปนี้
จากการที่สภาวิชาชีพบัญชีได้ประกาศมาตรฐานการสอบบัญชีฉบับปรับปรุงใหม่และฉบับที่ออกใหม่เกี่ยวกับรายงานของผู้สอบบัญชี จำนวนทั้งสิ้น 7 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ (ISA) วิทยากรจึงได้สร้างความเข้าใจในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานใหม่ดังกล่าว รวมทั้งเน้นย้ำประเด็นสำคัญของแต่ละมาตรฐาน และอธิบายหลักในการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อสรุปความเห็นต่องบการเงินได้อย่างเหมาะสม
เนื้อหาเกี่ยวกับรายงานของผู้สอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชี ดังต่อไปนี้
• มาตรฐานการสอบบัญชี 700 (ปรับปรุง) – การแสดงความเห็นและการรายงานต่องบการเงิน
• มาตรฐานการสอบบัญชี 701 (ปรับปรุง) – การสื่อสารเรื่องสำคัญในการตรวจสอบในรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
• มาตรฐานการสอบบัญชี 705 (ปรับปรุง) – การแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไปในรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
• มาตรฐานการสอบบัญชี 706 (ปรับปรุง) – วรรคเน้นข้อมูลและเหตุการณ์และวรรคเรื่องอื่น
• มาตรฐานการสอบบัญชี 720 (ปรับปรุง) – ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับข้อมูลอื่น
• มาตรฐานการสอบบัญชี 260 (ปรับปรุง) – การสื่อสารกับผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล
• มาตรฐานการสอบบัญชี 570 (ปรับปรุง) – การดำเนินงานต่อเนื่อง

วิวัฒนาการรูปแบบรายงานของผู้สอบบัญชีของไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน
• พ.ศ. 2518 : สองวรรค
• พ.ศ. 2541 : สามวรรค
• พ.ศ. 2555 : หกวรรค
• พ.ศ. 2559 : รายงานแบบใหม่ ถือปฏิบัติกับการตรวจสอบงบการเงินสำหรับงวดสิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รายงานแบบใหม่ มีองค์ประกอบดังนี้
1. วรรคความเห็น
2. วรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็น ในกรณีที่แสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข ก็ต้องนำเสนอวรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็นด้วย ซึ่งเดิมจะมีการแสดงวรรคนี้ก็ต่อเมื่อมีการแสดงความเห็นเปลี่ยนไปที่มิใช่การแสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข นอกจากนี้ ในรายงานแบบใหม่ยังเพิ่มเรื่องความเป็นอิสระและข้อกำหนดจรรยาบรรณในวรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็นด้วย
3. วรรคเรื่องสำคัญในการตรวจสอบ ซึ่งบังคับให้จัดทำเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
4. วรรคข้อมูลอื่น
5. วรรคความรับผิดชอบของผู้บริหารและผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลต่องบการเงิน
6. วรรคความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีต่อการตรวจสอบงบการเงิน
ปัญหาของรายงานของผู้สอบบัญชีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
อ้างถึงงานวิจัย Gold, 2009; Mock et al,, 2009; Porter et al., 2009; gray et al., 2011
1. ผู้ใช้งบการเงินอ่านเพียงวรรคความเห็นว่ามีปัญหาหรือไม่ นอกนั้นจะไม่อ่าน ดังนั้น รายงานแบบใหม่จึงนำวรรคความเห็นมาไว้เป็นวรรคแรก แล้วตามด้วยวรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็น
2. ผู้ใช้แต่ละกลุ่มเข้าใจความหมายของคำอธิบายที่เป็นแบบมาตรฐานต่างกัน
3. ความรับผิดชอบของผู้บริหารและผู้สอบบัญชีมีความยาวและเหมือนเดิมตลอด ผู้ใช้งบการเงินจึงไม่สนใจอ่าน ดังนั้น รายงานแบบใหม่จึงย้ายสองวรรคนี้ไปไว้ท้ายสุด และให้เพิ่มคำอธิบายเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการไว้ด้วย
4. ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจว่าผู้สอบบัญชีมีการวิเคราะห์การอยู่รอดของกิจการในเชิงลึก ซึ่งจริงๆไม่ได้ทำเชิงลึกเพื่อกิจการ
5. ผู้อ่านงบการเงินไม่มั่นใจว่า “การให้ความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผล (Reasonable Assurance) หมายถึงอะไร ดังนั้น ในวรรคความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชี จึงมีการเพิ่มคำอธิบายถึงความหมายของ “การให้ความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผล” และ “สาระสำคัญ” รวมถึงให้อธิบายเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบและการสื่อสารกับผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล
6. ผู้ใช้งบการเงินไม่ทราบว่า คำว่า “สาระสำคัญ” วัดอย่างไร

Categories: วิชาการ | Tags: | Leave a comment

โครงการอบรม “SMEs มั่นใจ ส่งออกต่างประเทศไปกับ EXIM”

                                                          คุณพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM Bank

                                   คุณมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME Development Bank

                                   คุณจันทร์ฉาย พิทักษ์อรรณพ ผจก.อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การตลาด EXIM Bank

 

เศรษฐกิจการส่งออกเดิมอยู่ที่ตลาดหลักๆ คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันตลาดหลักเหล่านี้มีความผันผวนมาก ถึงฟื้นฟูขึ้นมาแต่อัตราการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ตลาดที่เป็นโอกาสในอนาคตคือ ตลาดเอเชีย โดยเฉพาะ กลุ่มประเทศ CLMV ประเทศเวียดนามเปิดรับและชื่นชอบสินค้าไทยมาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้สิทธิประโยชน์ GSP 5-70 เปอร์เซ็นต์

โอกาสการส่งออกของ SMEs มีมาก เนื่องจากปัจจุบัน SMEs ที่เป็นนิติบุคคลมี 2 ล้านราย แต่มี SMEs ส่งออกเพียง 40,000 ราย และตัวเลขนี้คงที่มาประมาณ 10 ปีแล้ว ส่วนโอกาสด้านช่องทางการจำหน่ายปัจจุบันมีมากขึ้น ด้วยคนกลางถูกตัดออกไป โดยการขายออนไลน์  

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของ SMEs ก็มีความเสี่ยงหลายประการ อาทิเช่น ความเสี่ยงด้านคู่ค้า ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น SMEs ควรป้องกันโดยการทำประกันความเสี่ยงจากการที่ลูกค้าไม่จ่ายเงิน หรือทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง EXIM BANK เป็นธนาคารที่ให้บริการเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งให้สินเชื่อส่งออกแก่ SMES และธนาคาร SME Development Bank ได้ให้บริการสินเชื่อส่งออกแก่ SMEs ด้วยเช่นกัน

ในการส่งออกนั้น มีขั้นตอนการส่งออกที่ต้องติดต่อทั้งกับลูกค้า ธนาคาร ศุลกากร บริษัท Shipping บริษัทโลจิสติกส์ ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการขั้นตอนการส่งออกอย่างไร ให้เหมาะสมกับสินค้า และมีต้นทุนต่ำสุด นอกจากนี้ ผู้ส่งออกต้องคำนึงถึงวิธีการชำระเงินที่ตนเสี่ยงน้อยที่สุด และศึกษาเรื่องการขอสินเชื่อที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการส่งออกของตน

Categories: อบรม-สัมมนา | Leave a comment

โครงการอบรมการเขียนโครงการวิจัยเชิงนโยบายธุรกิจ

                                                                            ศ.ดร. อารี วิบูยล์พงศ์

การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย ควรมีการตั้งคำถามให้ชัดเจนว่า โจทย์วิจัยตั้งใจจะหาคำตอบอะไร ซึ่งจะบอกได้ว่า โครงการวิจัยนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างไร และในการเขียนวัตถุประสงค์วิจัย ต้องให้ครอบคลุมการตอบคำถามวิจัยโดยจะต้องนำคำถามวิจัยเข้าสู่วัตถุประสงค์การศึกษาให้ได้

ในการเขียนวิธีวิจัย (Methodology) ควรเขียนให้เห็นความสามารถในการทำงานวิจัยของผู้วิจัย โดยจะต้องเขียนให้ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีวิจัยเชิงปริมาณ หรือวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่าง วิธีการเก็บข้อมูล วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล โดยในการวิเคราะห์นั้น หากเป็นการวิเคราะห์ของวิจัยเชิงปริมาณจะต้องระบุชัดเจนเกี่ยวกับสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลของการวิจัยเชิงคุณภาพ เช่น Content Analysis จะต้องวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่ทำวิจัย หรือความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยดังกล่าวด้วย รวมทั้งต้องวิเคราะห์ในมิติระดับต่างๆของประเด็นที่ศึกษาด้วย ในการเก็บข้อมูล โดยทั่วไปควรมีการเก็บข้อมูลทั้งแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ ข้อมูลเชิงคุณภาพที่นำมาสนับสนุนข้อมูลเชิงปริมาณ เป็นข้อมูลที่จะอธิบายข้อมูลเชิงปริมาณให้มีความชัดเจนขึ้น

Categories: อบรม-สัมมนา | Leave a comment

การอบรมการใช้งาน Microsoft Office 365

Microsoft Office 365 มาจากคำว่า Cloud

Microsoft Office 365 เริ่มใช้ในไทยปี 2013

Microsoft Office 365 แตกต่างจาก Microsoft Office:

Ms Office 365 run on Internet การใช้งานเด่นๆ เช่น email Skype SkyDrive ส่วน MS Office  ทำงานธรรมดา ไม่สามารถแชร์กับคนอื่นได้  ถึงแม้ Microsoft Office 365 มีการใช้งานบนอินเตอร์เน็ต แต่บางครั้ง ก็มีการทำงาน Offline ได้

Microsoft Office 365 สามารถทำงานร่วมกับ Office 2010, 2011

Categories: อบรม-สัมมนา | Leave a comment